วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาการทำนาเป็ด

การทำนาปลูกข้าว มีมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล แม้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยกรุงสุโขทัย ก็ยังมีจารึกข้อความว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยสุโขทัยการทำนาได้เป็นอาชีพหลักของคนไทย แล้ว
การทำนา หากแบ่งเป็นทำตามฤดูกาลแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การทำนาปี หรือนาน้ำฝน คือการทำนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หากปีใดฝนมาเร็วก็จะเริ่มทำนาเร็ว หากปีใดฝนแล้งก็จะทำให้ไม่สามารถทำนาได้หรือทำได้แต่เสียหายมาก หรือหากปีใดน้ำมากเกินไปข้าว ก็จะเสียหาย หรือไม่ได้เกี่ยว ชะตาชีวิตของชาวนา จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำฝน พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสง
2. การทำนาปรัง หรือนาครั้งที่สอง หรือนานอกฤดู หรือนาน้ำตม คือการทำนาที่ไม่ได้อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก แต่อาศัยน้ำจากลำห้วย หนอง คลองบึง น้ำใต้ดิน หรือน้ำจากคลองชลประทาน พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้นหรือเกษตรกรเรียกว่า “พันธุ์ข้าวเตี้ย “ไม่มีความไวต่อแสง กล่าวคือข้าวจะออกดอกติดรวงข้าวและเก็บเกี่ยวได้ตามอายุ ระยะเวลาการเพาะปลูก และอายุการเก็บเกี่ยวจะน้อยกว่าข้าวนาปี การทำนาปรังจะใช้วิธีหว่านน้ำตม เป็นส่วนมาก
นอกจากแบ่งตามฤดูกาลแล้ว การทำนา ยังแบ่งออกตามวิธีการเพาะปลูกหลัก ๆ ได้ 2 วิธี คือ
1. การทำนาดำ จะทำในพื้นที่ราบลุ่มที่น้ำไม่ท่วมขังในฤดูน้ำหลาก จะเป็นนาน้ำฝน หรือนาในเขตชลประทานก็ได้ พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกจะเป็นพันธุ์ข้าวไวแสง หรือไม่ไวแสงก็ได้ แล้วแต่ฤดูกาล การเพาะ ปลูก การทำนาดำจะใช้แรงงานมาก เพราะต้องทำแปลงตกกล้าหรือแปลงเพาะกล้าข้าวก่อนแล้วจึงย้ายต้นกล้าไปปักดำอีกครั้งหนึ่ง ใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกน้อย และมีปัญหาเรื่องวัชพืชในนาข้าวน้อยกว่าการทำนาหว่าน
2. การทำนาหว่าน โดยมากการทำนาหว่านในฤดูนาปี จะทำในนั้นที่ ๆ เป็นที่ดอน หรือพื้นที่ ๆ มีน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก เช่นบริเวณนั้นที่ราบลุ่มภาคกลางเขตอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว จะหว่านแบบที่เรียกว่า “ หว่านแห้งหรือหว่านสำรวย “ หรือหากทำเทือกจะเรียกว่า “ หว่านเปียกหรือหว่านน้ำตม “
ปัจจุบันการทำนาในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานแทบจะไม่มีฤดูและเวลาที่แน่นอน เพราะจะมีการทำนาต่อเนื่อง และหมุนเวียนกันโดยตลอด หากท่านนั่งรถยนต์ผ่านสองข้างทางที่ทำนาจะพบว่าบางแปลงชาวนากำลังเก็บเกี่ยว บางแปลงข้าวอยู่ในระยะแตกกอ ซึ่งการทำนาแบบต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้มีปัญหาเรื่อง โรคและแมลงศัตรูข้าวระบาด เนื่องจากมีแหล่งอาหารบริบูรณ์ ประกอบกับเกษตรกรมักจะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวโดยไม่จำเป็น จึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการระบาดของศัตรูข้าวมากยิ่งขึ้น และมีต้นทุนในการนำนาสูง จนไม่มีกำไร
จากข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวนาปรัง ปี พ.ศ.2539-2541 โดยเฉลี่ยคิดเป็นเงิน 1,997 2,152 และ 2,157 บาทต่อไร่ ตามลำดับ ผลผลิตเฉลี่ยได้ จำนวน 721 663 และ 676 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นรายได้ 3,237 4,562 และ 3,390 บาทต่อไร่ ตามลำดับ เมื่อคิดคำนวนค่าแรงงานของตัวเกษตรกรด้วยแล้ว จะไม่มีกำไรเลย ทำให้เกษตรกรจำนวนมาก พยายามที่จะคิดค้นหาวิธีการทำนาใหม่ ๆ ที่จะลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปร เช่นค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูข้าว และค่าจ้างแรงงาน
ปี พ.ศ.2539 นายละเมียด ครุฑเงิน เกษตรกร หมู่ที่ 9 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ได้ทดลองปลูกข้าว หรือทำนาแบบ “ การปลูกข้าวด้วยตอซัง ” ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้เป็นจำนวนมาก คือ ลดค่าเตรียมดินได้ประมาณ 150 บาทต่อไร่ ลดค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 300-400 บาทต่อไร่ ลดค่าสารเคมีกำจัดวัชพืชได้ 80-100 บาทต่อไร่ ลดค่าสารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ได้ 60-80 บาทต่อไร่ รวมลดต้นทุนทั้งสิ้น 500-700 บาทต่อไร่ หรือ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งสิ้น
การเกลี่ยฟางทันที การทำนาปลูกข้าวด้วยตอซัง ได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ จังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัดในปี พ.ศ.2542 เกษตรกร บ้านจ่า ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้ ประยุกต์การปลูกข้าวด้วยตอซัง ด้วยปรับปรุงเทคนิคและ วิธีการบางประการเช่นการปรับปรุงการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม เหมาะสมกับสภาพดิน การเกลี่ยฟางข้าวให้คลุมกระจายทั่ว

การทำนาปลูกข้าวด้วยตอซัง ได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ จังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัดในปี พ.ศ.2542 เกษตรกรบ้านจ่า ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้ ประยุกต์การปลูกข้าวด้วยตอซัง ด้วยปรับปรุงเทคนิค และวิธีการบางประการเช่นการปรับปรุงการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม เหมาะสมกับสภาพดิน การเกลี่ยฟางข้าวให้คลุมกระจายทั่ว ตอซัง และการประดิษฐ์ชุดพวงล้อยาง จำนวน 8-10 เส้น ติดท้ายรถไถนา เพื่อลากทับตอซัง ให้แนบติดกับพื้นนา จึงเรียกวิธีการตามลักษณะการปฏิบัติว่า “ การปลูกข้าวล้มตอซัง ” และได้ขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่นจังหวัดชัยนาท และสุพรรณบุรี เนื่องจากการปลูกข้าวแบบล้มตอซังยังมีข้าวจำกัดบางประการ เช่น การปลูกในช่วงฤดูร้อน ต้นข้าวอ่อนที่แตกขึ้นมาใหม่ จากตอซัง จะตายเพราะน้ำในแปลงนาร้อนเกินไป และต้องเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง ซึ่งต้นข้าวจะยังสดไม่แห้งเกินไป จึงจะได้ต้นพันธุ์ที่มีหน่อข้าวแข็งแรง เจริญเติบโตดี บางครั้งเมื่อต้นข้าวที่แตกขึ้นมาใหม่ตาย จำเป็นต้องหว่านพันธุ์ข้าวเสริมบริเวณที่ตาย ทำให้ต้นข้าวมีอายุเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน ผลผลิตข้าวเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะมีข้าวเขียวเจือปน ทำให้ขายได้ในราคาต่ำ
นายสกล จีนเท่ห์ เกษตรกรหมู่ที่ 4 ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในโรงเรียนเกษตรกร ภายใต้โครงการศูนย์ส่งเสริมผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้ใช้ประสบการณ์จากการประกอบอาชีพการทำนาที่ตกทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ร่วมกับประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้โดยวิธีการปฏิบัติจริง ในโรงเรียนเกษตรกรร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ในท้องถิ่น ประยุกต์วิธีการปลูกข้าวแบบล้มตอซัง ให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นเป็นการทำนาวิธีใหม่ที่เรียกว่า “ นาเป็ด ” ซึ่งการทำนาเป็ดนี้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้และปฏิบัติด้วยตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการนำผลการศึกษาวิจัยเพื่อการปรับระดับของนักวิชาการคนใดในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสถาบันการศึกษาใดเลย เป็นภูมิปัญญาของเกษตรกรเองโดยแท้
นาเป็ด เป็นการทำนาวิธีใหม่ที่ใช้เป็ดมาช่วยทำนา เดิมทีมีผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดฝูงขนาดใหญ่จำนวนมากได้เลี้ยงเป็ดแบบลดต้นทุนการผลิต หรือเรียกว่า “ เป็ดทุ่ง ” โดยการปล่อยฝูงเป็ดตั้งแต่ขนาดยังเล็กจากท้องทุ่งแถวจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท ให้ฝูงเป็ดเหล่านั้น เก็บกินข้าวเปลือก กุ้ง หอย ปู ปลาในท้องนาที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเป็นอาหาร และเดินทางแบบค่ำไหนนอนนั่นเรื่อยมา เป็นแรมเดือน จนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือปทุมธานี ฝูงเป็ดที่เลี้ยงจะโตมีขนาดพอดีกับการจับจำหน่าย หรือนำไปเลี้ยงต่อ การเลี้ยงเป็ดวิธีนี้ทำกันมาหลายปีจวบจนความเจริญของบ้านเมืองเกิดขึ้น มีการก่อสร้างตึกอาคารบ้านเรือนและถนนเป็นจำนวนมาก ไม่สะดวกกับการเดินทางเคลื่อนย้ายฝูงเป็ดเหมือนเช่นแต่ก่อน ประกอบกับการทำนาในระยะหลังนี้ไม่มีมีฤดูกาลเหมือนเช่นแต่ก่อน ที่ส่วนใหญ่ตลอดเส้นทางการเคลื่อนย้ายฝูงเป็ดจะปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง ตามธรรมชาติข้าวจะแก่และเก็บเกี่ยวจากเหนือลงใต้ ดังนั้น ฝูงเป็ดจึงเดินทางหากินจากเหนือไล่ลงมาใต้พอดีกับระยะเวลาเก็บเกี่ยว อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อวิถีการทำนาเปลี่ยนแปลงจากปีละครั้ง เป็นแบบต่อเนื่องไม่มีฤดูกาล เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ ทำให้เป็ดตายเป็นจำนวนมาก และไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของเป็ดหลงเหลืออยู่ในนาข้าวอีกเลย จึงทำให้วิถีการประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดพเนจร หรือ เป็ดทุ่ง หมดไป
ในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจของประเทศไทยตกต่ำ เกษตรกร ท้องทุ่งบางระจัน ดินแดนแห่งคนกล้า ได้หันมาเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวเป็นจำนวนมาก โดยเป็ดที่เลี้ยงส่วนมากจะใช้รถอีแต๋นลากกระบะที่ทำเป็นกรงบรรทุกเป็ด นำไปปล่อยเลี้ยงในพื้นที่ใกล้ ๆ หมุนเวียนไปในท้องทุ่งบางระจัน เพราะการทำนาในท้องทุ่งบางระจันมีการทำแบบหมุนเวียนต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงทำให้มีที่สำหรับเลี้ยงเป็ดได้ตลอดปี

เป็ดกำลังช่วยเกษตรกรทำนา

ขณะที่เลี้ยงเป็ดในทุ่ง เกษตรกร สกล จีนเท่ห์ ก็ใช้ ความสังเกตจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ในเรื่องของระบบนิเวศในโรงเรียนเกษตรกร ผนวกกับข้อจำกัดของการทำนาแบบล้มตอซังมาประยุกต์ ทดลองเอาเป็ดมาช่วยทำนา กล่าวคือ ภายหลังจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ปล่อยเป็ดลงไปลุยในพื้นที่นา เพื่อเก็บหอยเชอรี่ เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดหญ้า และอื่น ๆ กิน ฟางที่อยู่ในนาก็จะถูกเป็ดย่ำจนเปื่อย มูลของเป็ดที่ถ่ายออกมาก็จะเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าวในนา หลังจากนั้นจึงเอาเป็ดออกจากแปลงนา และหว่านเมล็ดข้าวลงไปโดยไม่ต้องไถพรวนดิน โดยวิธีการปฏิบัติคล้ายกับข้าวล้มตอซัง จะแตกต่างตรงที่ไม่ต้องใช้ล้อยางล้มตอซัง แต่ใช้เป็ดแทน และต้องใช้เมล็ดข้าวงอก (หุ้ม) หว่าน ไม่ใช้ต้นแตกใหม่จากตอซัง เกษตรกร สกล จีนเท่ห์ ทดลองทำติดต่อกันมากกว่า 10 ฤดู จนมั่นใจว่าเป็นวิธีที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับท้องทุ่งบางระจัน และให้ ชื่อการทำนาวิธีนี้ว่า “ การทำนาเป็ด ” ซึ่งในปัจจุบันอำเภอบางระจัน หรือที่เรียกว่า “ บางรักชาติ ” มีพื้นที่นาเป็ดถึง 25,800 ไร่ และกำลังขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูกาล โดยมีวิธีการทำดังนี้
1. ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 15 วัน ให้ระบายน้ำออกจากแปลงให้แห้ง เพื่อที่รถลงไปเกี่ยวจะได้ไม่เป็นร่องหรือรอยรถ และสะดวกในการเก็บเกี่ยว ปัจจุบันรถเกี่ยวข้าวจะติดเครื่องตีฟางให้กระจายไปทั่วโดยไม่ต้องจ้างเกลี่ยฟางปล่อย ไว้ 1 – 2 วัน ก็ทำการจุดไฟเผาตอซัง เพื่อให้ตอเก่านั้นตาย ถ้าปล่อยไว้ตอเก่าจะแตกหน่อทำให้ข้าวออกรวงไม่พร้อมกัน และเมื่อหว่านข้าว เมล็ดจะตกไม่ถึงดิน
2. หลังเผาตอซังเอาน้ำเข้าแปลงให้ทั่ว และให้เป็ดลงไปหาอาหาร เพื่อกำจัดหอยเชอรี่และศัตรูพืชประมาณ 2 – 3 วัน
3. แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว (หุ้ม)ไว้ 1 คืน แล้วนำไปหว่านในแปลงอัตรา 20 – 25 กก./ไร่ แล้วแช่เมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงในแปลงไว้ 24 ชั่วโมง จึงระบายน้ำออก และให้ทำการตรวจแปลงตามที่ลุ่ม ๆ เพื่อระบายน้ำออกให้หมดทั่วทั้งแปลงนา
4. หลังจากข้าวงอกแล้วประมาณ 8 – 9 วัน ก็เริ่มฉีดยาคุมวัชพืชเหมือนการทำนาน้ำตม
5. การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังจากหว่านข้าว 20 – 25 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 16 – 20 – 0 จำนวน 15 กก./ไร่ และสูตร 46 – 0 – 0 จำนวน 15 กก./ไร่
6. การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ข้าวอายุ 50 – 55 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 จำนวน 10 กก./ไร่
7. การเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 110 – 115 วัน
8. ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 900 – 1,000 กก./ไร่
ประโยชน์ที่รับจากการทำนาเป็ด
1. ลดต้นทุนการผลิต - ค่าเตรียมดิน 350 บาท/ไร่ - ค่าจ้างชักร่อง 50 บาท/ไร่ - สารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ 50 บาท/ไร่ รวม 450 บาท/ไร่
2. รักษาสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมรุนแรง (เอ็นโดซัลแฟน)
3. ลำต้นข้าวแข็งแรง รวงใหญ่ ปริมาณเมล็ดมาก ให้ผลผลิตสูงกว่าการทำนา หว่านน้ำตม
4. ผลผลิตสูงขึ้น (ผลผลิตเฉลี่ย 900 – 1,000 กก./ไร่)
คุณธวัชชัย บุญงาม เกษตรอำเภอบางระจัน ผู้มีเลือดเนื้อเชื้อไขคนกล้าแห่งบางระจัน เป็นผู้ที่ทุ่มเทส่งเสริมการทำนาเป็ดในอำเภอบางระจันอย่างเต็มที่ ให้แพร่ขยายไปทั่วท้องทุ่ง กล่าวว่า “ในภาพรวมของอำเภอบางระจันมีแนวโน้มที่เกษตรกรจะทำนาเป็ดเพิ่มมากขึ้น จะเห็นว่าการทำนาเป็ดในพื้นที่ 25,800 ไร่ สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้เป็นเงินทั้งสิ้น 11,610,000 บาท/ฤดูกาล คาดว่าฤดูต่อไปจะมีพื้นที่ทำนาเป็ดเพิ่มขึ้นถึง 40,000 ไร่ ในที่สุดการทำนาเป็ดจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของเกษตรกรในท้องทุ่งบางระจัน และใกล้เคียง รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะการทำนา และการเลี้ยงเป็ดที่เอื้อประโยชน์แก่กันและกันอีกด้วย “
นอกเหนือไปจากการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรแล้ว การทำนาเป็ดยังเป็นการประกอบอาชีพการเกษตรในลักษณะที่เอื้ออำนวยประโยชน์แก่กันและกัน สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย อันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็น เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดบอกว่า ไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารเม็ดเสริมให้กับเป็ด เพราะเป็ดได้รับอาหารในแปลงนาเพียงพอต่อการเจริญเติบโต หอยเชอรี่ศัตรูข้าวของชาวนาจะถูกเป็ดจับกินเป็นอาหาร เป็ดเจริญเติบโตดี ไข่แดง มีสีแดงดี เปลือกไข่หนา (โดยทั่วไปจะเลี้ยงเป็ดไข่ ) และไข่กลิ่นไม่คาวแรงเหมือนเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด เป็ดแข็งแรง เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดสามารถจำหน่ายเป็ดสาวหรือเป็ดรุ่นเมื่ออายุ 5 – 6 เดือน ในราคาตัวละ 60 บาทหรือจำหน่ายเป็ดแก่ (หมดไข่) เมื่ออายุประมาณ 1 1/2 -2 ปี ตัวละ 40 บาท สำหรับไข่เป็ดจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงแปลงนา โดยผู้เลี้ยงไม่ต้องนำไปขายเอง ราคาไข่เป็ดขึ้นอยู่กับตลาด นับว่ารายได้ดีทีเดียว เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดจะตอบแทนน้ำใจเกษตรกรเจ้าของนาโดยมอบไข่เป็ดที่เลี้ยงให้ไร่ละ 5 ฟองต่อวัน หรือจ่ายเป็นเงินให้ไร่ละ 10 บาท โดยที่มิได้มีการเรียกร้องแต่ประการใด เป็นความพอใจของทั้งสองฝ่าย เมื่อเป็ดกินอาหารในแปลงนาจนอาหารหมดแล้ว (ประมาณ 2 – 3 วัน) เกษตรกรเจ้าของเป็ดก็จะย้ายเป็ดไปยังนาแปลงอื่นที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และปล่อยเป็ดลงทำหน้าที่ช่วยชาวนาทำนาต่อไป ทันทีที่เกษตรกรเจ้าของเป็ดนำสะพานทอดจากพื้นนากับรถกระบะบรรทุก ฝูงเป็ดจะเดินขึ้นรถอย่างเป็นระเบียบด้วยความเคยชิน อย่างมีความสุขที่จะได้ไปช่วยชาวนารายอื่นทำนาต่อไป ( สงสัยคงจะเหนื่อยเพราะต้องเดินย่ำแปลงนาตลอดทั้งวัน พอเห็นรถมาเลยรีบขึ้นเพื่อจะได้พักผ่อน ) มีสัตว์อยู่ชนิดหนึ่งที่ขัดผลประโยชน์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด แต่เกษตรกรเจ้าของเป็ดก็ไม่เคยทำร้ายมันแม้แต่น้อย สัตว์นั้นก็คือ “ นกปากห่าง ” เพราะทันทีที่เกี่ยวข้าวเสร็จนกปากห่างจะลงจับหอยเชอรี่กินทันที เกษตรกรเจ้าของเป็ดก็จะรีบขับไล่ไม่ให้นกปากห่างลงกินหอยเชอรี่ ต้องให้เป็ดของเขากินก่อน เพราะเป็ดจะเก็บแต่หอยเชอรี่ที่มีขนาดเล็กกินได้เท่านั้น ขนาดใหญ่กินไม่ได้ จะปล่อยให้นกปากห่างเป็นผู้จัดการแทนในภายหลัง ซึ่งในปัจจุบันภายหลังจากที่เกษตรกรแห่งท้องทุ่งบางระจันเข้าร่วมโครงการโรงเรียนเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรมีความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าวพร่ำเพื่อโดยไม่จำเป็น มีการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในนาข้าวมากขึ้น ทำให้นกปากห่างมีความสุขมาก มีอาหารในธรรมชาติอุดมสมบูรณ์แก่การดำรงชีวิต พฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป ปัจจุบันนกปากห่างที่หากินอยู่ในท้องทุ่งบางระจันไม่ย้ายถิ่นฐานแล้ว ฝูงนกเหล่านี้อาศัยอยู่ตามกลุ่มหมู่ไม้ในท้องทุ่งบางระจัน กลายเป็นนกประจำถิ่น เพราะความอุดม สม บูรณ์ของอาหารทำให้พวกมันมีนิสัยเสีย ขี้เกียจแม้กระทั่งจะบินกลับอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ที่พวกญาติ ๆ ส่วนใหญ่ของมันอยู่กัน “ เกษตรกรเจ้าของนามีความสุข เพราะมีเป็ดและนกปากห่างช่วยทำนา เกษตรกรเจ้าของเป็ดก็มีความสุข เพราะมีอาหารให้เป็ดกินโดยไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารให้เป็ด เป็ด และนกปากห่างก็มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย เพราะเกษตรกรเจ้าของนาไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าว”

ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

ในปัจจุบันการแพทย์แผนไทยได้รับการยอมรับและขยายผลการปฏิบัติไปอย่างกว้างขวาง มิใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น ต่างชาติได้ให้ความสนใจกับการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นการดูแลรักษาแบบองค์รวม ทั้งระบบเป็นอย่างมาก ตำรับยาแผนไทยใช้สมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้สารเคมีสังเคราะห์แบบแพทย์ปัจจุบัน ในแต่ละตำรับยาจะประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ทั้งตัวที่ออกฤทธิ์หลัก ตัวที่ออกฤทธิ์รอง ตัวที่ฆ่าฤทธิ์ ตัวที่เสริมฤทธิ์ ฯลฯ ทำให้บำบัดโรคได้แบบองค์รวม แม้กระทั่งการบำบัดทางกายภาพ เช่น การนวด การบำบัด ด้วยกลิ่นก็รวมอยู่ในการแพทย์แผนไทยเช่นกันเมื่อได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจมากในสิ่งดังกล่าว ซึ่งถือว่า เป็นภูมิปัญญาของชาติ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ ดังนั้น จึงต้องหาทางที่อนุรักษ์ ฟื้นฟูส่งเสริมและคุ้มครอง สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาเหล่านั้นไว้ โดยขณะนี้ได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย แล้วจึงขอเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อย
พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ แผนไทย พ.ศ.2542 เป็นหนึ่งในกฏหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทย และเป็นกฏหมายฉบับเดียวในโลกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ คุ้มครอง และส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และความ หลากหลายทางชีวภาพ พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองและส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยอย่างเป็น รูปธรรมโดยให้มูลค่าแก่ภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยเฉพาะภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ในทรัพย์สินทางปัญญาและการ ให้การคุ้มครองสมุนไพรควบคุมตามประกาศกำหนด ตลอดจนพื้นที่ที่เป็นถิ่นกำเนิดฐานะส่งเสริมและพัฒนา สมุนไพร โดยมีกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้การสนับสนุน
ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหมายความว่า พื้นความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ได้แก่กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษาหรือป้องกัน หรือส่งเสริมและฟื้นฟู สุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และให้หมายถึง การเตรียมการผลิตยาและการประดิษฐ์ อุปกรณ์ เครื่องมือการแพทย์ ทั้งนี้ โดยองค์ความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา
ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย
1. ตำรับยาแผนไทยของชาติ หรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ
2. ตำรับยาแผนไทยทั่วไป หรือ ตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป
3. ตำรับยาแผนไทยส่วนบุคคล หรือ ตำราการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล
สาระสำคัญของ พรบ.ดังกล่าว ประกอบด้วย 7 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
กำหนดให้มีคณะกรรมการ
หมวดที่ 2 การคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
กำหนดสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่จะได้รับการคุ้มครอง
กำหนดให้มีการรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทั่วราชอาณาจักร
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์พื้นเมือง
หมวดที่ 3 การคุ้มครองสมุนไพร
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุมหรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า
กำหนดให้มีการจัดทำแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพร
กำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร
หมวดที่ 4 การอุทธรณ์
การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหรือรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี
หมวดที่ 5 พนักงานเจ้าหน้าที่
กำหนดอำนาจหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานตาม พรบ.
หมวดที่ 6 กองทุนภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย
ทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
หมวดที่ 7 หากำหนดโทษ
บทกำหนดโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดใน พรบ.
ใน พรบ. ซึ่งมี 7 หมวด มีทั้งหมด 82 มาตรา ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงบางมาตรการและวัตถุประสงค์ เท่านั้น ส่วนบุคคลที่มีสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จะได้รับการคุ้มครองตาม พรบ. นอกจากนี้ ยังให้ความ คุ้มครองสมุนไพรที่กฏหมายประกาศกำหนดให้เป็นสมุนไพรควบคุม รวมทั้งระบบนิเวศที่เป็นถิ่นกำเนิดของสมุนไพร นั้น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม กฏหมายฉบับนี้จะเป็นรั้วได้หรือไม่นั้น ต้องมีกลไกและขั้นตอนการดำเนินงานทาง กฏหมายอีกหลายอย่าง กล่าวคือ ต้องมีกฏหมายลำดับรองว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่จะออกมาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการ ดำเนินการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้เป็นไปตามที่กำหนด โดยจะ มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แบบไทย ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลทั้งภาคราชการและเอกชนมา ทำหน้าที่วางนโยบาย กำหนดกฏเกณฑ์ ระเบียบและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้การคุ้มค่าและส่งเสริมในภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สมดังเจตนารมย์ของกฏหมายฉบับนี้และจะทำให้มี “รั้ว” ที่เข้มแข็งสามารถปรับปรุง คุณค่าภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรชีวภาพของชาติไทยให้ยั่งยืนได้ตลอดไป

ภูมิปัญญาร่มกระดาษสา

ร่มกระดาษสาไม่เลือนรางไปตามกาลเวลา
จากลำไผ่ไหวเอนส่งเสียงเอียดออดยามต้องลมแรงมาเป็นก้านร่ม และโครงร่ม กระดาษสาซื่งทำมาจากเปลือกไม้หุ้มต้น รวมกันเป็นร่มกระดาษสา ที่ซึ่งทอดเงากันแดดฝนมานานนับศตวรรษ ด้วยคุณค่าและเอกลักษณ์อันงดงาม ร่มกระดาษสาบ่อสร้างจึงเป็นมรดกแผ่นดินที่ชาวเชียงใหม่ทุกคนหวงแหนและภาคภูมิใจ การทำร่มกระดาษสาบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง นี้มีกรรมวิธีผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ที่สืบทอดกันมาจากความคิดค้นสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นอันยาวนาน สืบทอดมีความเป็นมาและวิวัฒนาการจนมาเป็นร่มกระดาษสาที่เราได้เห็นในปัจจุบัน เอกลักษณ์ของร่มกระดาษสานี้ ก็คือกรรมวิธีในการผลิตต้องอาศัยความชำนาญ และฝีมืออย่างสูง อีกทั้งฝีมือในการแต่งแต้มลวดลายอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ด้วย

"บ่อสร้างกางจ้อง" คำว่า จ้อง นี้เป็นภาษาเหนือแปลว่าร่ม ซึ่งมีการใช้จนติดปากดังเช่นในเพลงยอดนิยมของ ทอม ดันดีเลยทีเดียว "สาวน้อยกางจ้อง" นี้ก็หมายถึง สาวสวยเชียงใหม่ในชุดผ้าไหมผื้นเมือง กางร่ม ที่ปรากฎกายให้เห็นในขบวนแห่งและงานต่าง ๆ ของเชียงใหม่ รวมทั้งอยู่ในภาพโปสเตอร์ต่าง ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของถิ่นไทยงามไปแล้ว
ความเป็นมาของร่มบ่อสร้าง
ความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องการทำร่มกระดาษสาบ่อสร้างนั้นมีกาบอกเล่ากันมา 2 ทางด้วยกัน
เรื่องแรกก็คือ ในสมัยก่อนมีพระธุดงค์มาปักกลดกที่บ้านบ่อสร้าง แล้วกลดที่ปักไว้นั้นใช้การไม่ได้เนื่องจากมีลมพายุพัดแรงมาก ชายชราผู้หนึ่งชื่อเผือกได้ซ่อมแซมให้จนใช้ได้และได้นำมาเป็นตัวอย่างดัดแปลงทำร่มใช้ขึ้นในเวลาต่อมา
อีกเรื่องหนึ่งเล่าถึงที่มาของร่มบ่อสร้างว่า ประมาณกว่า 100 ปีมาแล้ว พระอินถาผู้เป็นภิกษุประจำสำนักสงฆ์วัดบ่อสร้างใด้ธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปยังที่ต่าง ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านธุดงค์เข้าไปใกล้ชายแดนพม่าและมีชาวพม่านำกลดมาถวาย ด้วยความที่ท่านมีความสนใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่าง ๆ อยู่แล้ว รู้สึกชอบกลดที่ชาวบ้านนำมาถวายจึงสอบถามถึงที่มา ชาวพม่าที่นำกลดมาถวายได้เล่าให้ฟังว่า เมืองที่เขาอยู่นั้นมีการทำกลดกัน ท่านจึงเดินทางเข้าไปในเมืองพม่า แล้วได้เห็นจริงตามที่ชาวพม่าผู้นั้นบอก ท่านมีความเห็นว่ากลดซึ่งมีลักษณะเหมือนร่มนี้ใช้กันแดดกันฝนได้ ทำจากวัสดุที่หาง่าย และสามารถพกพาไปไหนต่อไหนได้สะดวก
พระอินถาตั้งใจศึกษาฝึกฝนจนสามารถทำร่มหรือกลดชนิดนี้ได้ หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับมายังบ้านบ่อสร้างเพื่อเผยแพร่วิธีทำร่มโดยใช้วัดเป็นโรงเรียน ชาวบ้านก็สนใจมาเรียนการทำร่มกันจำนวนมาก โดยฝ่ายชายศึกษาเรื่องการทำโครงร่มโดยใช้ไม้บงหรือไม้ไผ่ ฝ่ายหญิงศึกษาเรื่องการทำกระดาษสาสำหรับใช้คลุมร่ม ไม่นานนักก็สามารถทำกันได้ จนกลายเป็นอาชีพหนึ่งรองจากการทำนา จึงเกิดเป็นหมู่บ้านทำร่มขึ้นมาโดยเฉพาะ จนบ่อสร้างมีชื่อเสียงในการทำร่มมาจึงถึงทุกวันนี้
วิวัฒนาการของร่มบ่อสร้าง
แรกเริ่มในสมัยที่พระอินถานำงานทำร่มกระดาษสามาเผยแพร่ท่บ้านบ่อสร้างนั้น ท่านใช้กระดาษสาที่ได้จากต้นปอสาของป่าแถบหมู่บ้าน ตัวโครงก็ใช้ไม้บง หัวและตุ้มหรือจุกร่มใช้ไม้ส้มเห็ด คันร่มใช้ไม้รวก มียาก ตะโกเป็นกาวแล้วทาทับกระดาษสาด้วยน้ำมันยางเพื่อกันแดดกันฝน
ต่อมาก็ยังคงใช้โครงไม้บงหรือไม้ไผ่ แต่มการนำพวกเปลือกไม้ ดินแดง และเขม่า ไปผสมยางไม้มาย้อมทาแทน จนเกิดเป็นสีดำและสีแดง ชาวบ้านรุ่นนั้นทำร่มขึ้นเพื่อนำไปถวายวัดในเทศการงานบุญ หากทำได้จำนวนมากก็จะทำไปขายในเมือง เมื่อขายดีเป็นที่นิยมก็มีการส่งเสริมการผลิตกันอย่างจริงจัง โดยเพิ่มการวาดสีสันลวดลายให้เกิดความงดงาม การทำร่มกระดาษสาจึงไม่ได้ทำขึ้นเพียงเพื่อใช้ในครอบครัวอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นอาชีพรองจากการทำนา และดูเหมือนว่าในปัจจุบันได้กลายเป็นอาชีพหลักของคนบ่อสร้างไปเสียแล้ว

การทำร่มกระดาษสาที่บ้านบ่อสร้างต้องอาศัยวัสดุอุปกรณ์หลายอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าคนบ่อสร้างไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ได้เองทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแหล่งผลิตอื่นที่ต้องทำอุปกรณ์มาขายให้แก่บ่อสร้างโดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง อาทิ หมู่บ้านต้นเปารับหน้าที่ทำกระดาษสา บ้านแม่ฮ้อยเงินทำด้ามร่ม บ้านต้นแหนทำโครงร่ม ซี่ร่ม ฯลฯ

ในช่วงแรกที่ร่มโครงเหล็กใช้ผ้าใบหรือพลาสติกแพร่หลายเข้ามาทำให้ร่มกระดาษสาบ่อสร้างเกือบเลิกการผลิตไปเหมือกัน ชาวบ้านที่เคยยึดอาชีพทำร่มต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น แต่ไม่นานนัก็มีผู้ตั้งศูนย์หัตถกรรมการทำร่มบ่อสร้างขึ้น ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นแหล่งผลิตร่มกระดาษสาขนาดใหญ่ รับผลิตและจัดจำหน่าย ทั้งขายส่งและขายปลีก ร่มกระดาษสาบ่อสร้างจึงคืนสู่สังเวียนหัตถกรรมชั้นแนวหน้าของเชียงใหม่อย่างเต็มภาคภูมิ และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดศูนย์หัตถกรรมร้านรวงใหม่ ๆ ขึ้นอีกมากมาย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้
ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการพัฒนา การปรับตัว ปรับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ที่ประกอบด้วยคนไทยและอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในคาบสมุทรมีคนมาเลย์ คนจีน และคนที่มาจากอินเดียฝ่ายใต้ แต่กลุ่มชนที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ไทยสยาม โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแหลมทอง มีทะเลกว้างใหญ่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในทะเล และบนแผ่นดิน อันล้วนเป็นเขตมรสุมใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผู้คนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรมเดินทางมาทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อมาตั้งหลักแหล่ง แสวงหาโภคทรัพย์และทำมาค้าขายเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานกว่าพันปี มีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันหลายลักษณะ ทั้งบริเวณชายทะเล ที่ราบระหว่างชายทะเลกับเทือกเขา หลังเขา และตามสายน้ำน้อยใหญ่จำนวนมากที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน ภูมิปัญญาของภาคใต้จึงมีความหลากหลาย ทั้งที่ได้พัฒนาการจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หรือคนต่างถิ่นที่พกพามาจากแหล่งอารยธรรมต่าง ๆ จนหลอมรวมกันเกิดเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น ซึ่งมีอยู่ในหลายลักษณะคือภูมิปัญญาในด้านกาชีพ ภูมิปัญญาในด้านความสัมพันธ์และการพึ่งพาภูมิปัญญาในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาในด้านสมุนไพร ภูมิปัญญาในด้านทัศนะค ภูมิปัญญาในด้านการปลูกฝังคุณธรรมภูมิปัญญาในด้านการดำรงชีพ การแสวงหาปัจจัยพื้นฐานของการยังชีพถือเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของชนทุกชาติทุกภาษา ซึ่งวิธีการจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม สำหรับชนชาวใต้ที่มีทำเลตั้งถิ่นฐานค่อนข้างหลากหลายคือ มีทั้งที่ราบตามแนวชายฝั่ง ปากอ่าว ท่าเรือ ที่ราบเชิงเขา หลังเขา ตามแนวสายน้ำน้อยใหญ่ บนเกาะ ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน ทำให้ชาวใต้ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ ความสามารถ อย่างมากมายในการจัดการและปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ซึ่งมีอยู่หลายประการ คือ
1. การขุดสระน้ำ เพื่อให้ได้น้ำจืดใสสะอาดไว้กินไว้ใช้ตลอดทั้งปี เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล ยามที่น้ำขึ้น น้ำเค็มจะไหลเอ่อเข้ามาในแผ่นดิน จะอาศัยอาบกินก็ไม่สะดวก ดังนั้นจึงเกิดภูมิปัญญาในการหาทำเลขุดบ่อน้ำ ซึ่งบริเวณที่เหมาะสมควรจะเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
-บริเวณที่มีหญ้าขึ้นในฤดูแล้ง-บริเวณที่มีต้นกะพ้อ มะเดื่อ หรือมีจอมปลวก เป็นบริเวณที่มีความชื้นอยู่มาก น้ำใต้ดินอยู่ในระดับตื้น-ทดสอบโดยใช้กะลามะพร้าวผาซีก ไปคว่ำไว้ตามจุดที่สงสัยว่าจะมีตาน้ำ เมื่อหงายดู ถ้าพบว่ามีหยดน้ำจับอยู่มากก็เชื่อได้เลยว่าตาน้ำอยู่ไม่ลึก
2. การปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน ชาวใต้มีความเชื่อทำนองเดียวกันกับภาคอื่นว่าการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านต้องเลือกปลูกเฉพาะไม้ที่เป็นมงคลและปลูกให้ถูกทิศทาง โดยมีประโยชน์แฝงไว้เพื่อให้เกิดความร่มเย็นทั้งกายใจ ส่วนที่ห้ามปลูกในบริเวณบ้าน เป็นพวกไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขามาก หรือชื่อไม่เป็นมงคล เช่น เต่าร้าง ลั่นทม ความเชื่อนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการโคจรของดวงอาทิตย์ ทิศทางของลมมรสุม ความหนักเบาของฝน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน รวมถึงความเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ในแต่ละพันธุ์ด้วย
3. การปลูกสร้างบ้านเรือน จะมีลักษณะแตกต่างจากภาคอื่น ๆ คือ
- ชาวใต้นิยมแผ้วถางพื้นที่บริเวณบ้านให้เตียนเรียบจนเห็นเป็นพื้นทรายขาวสะอาด มีเหตุผลด้านสภาพแวดล้อมคือ การเดินเข้าออกสะดวก ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่มีอยู่อย่างชุกชุม
- บ้านเรือนมีหลังคาเตี้ยลาดชัน ยกพื้นสูง และไม่ฝังเสาลงดิน แต่จะวางอยู่บนตีนเสาที่เป็นก้อนหิน ไม้เนื้อแข็ง หรือ แท่งซีเมนต์หล่อ เนื่องจากฝนตกชุก ทำให้ดินอ่อนตัวโอกาสที่เสาจะทรุดตัวมีได้มากนอกจากนี้แล้วยังเป็นการป้องกันปลวกและเชื้อรากัดกิน
- ไม่ปลูกบ้านขวางตะวัน นิยมปลูกหันหน้าไปในแนวเหนือใต้ เพื่อหลบแสงแดดที่จะส่องเข้าบ้าน
4. อุบายในการครองชีพสังคมของชาวใต้มีเคล็ดหรืออุบายในการดำรงชีพและการทำมาหากินตาม
สภาพแวดล้อมหลายประการคือ
- เครื่องหมายแสดงเจตจำนง แต่เดิมชาวใต้ไม่รู้หนังสือหรือแม้จะรู้บ้าง แต่การสื่อความหมายโดยใช้เครื่องหมายบอกเจตจำนงก็ยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ยอมรับเป็นกติกาแห่งสังคมที่อยู่กินกันแบบพึ่งพาอาศัย ที่นิยมใช้กัน คือ เครื่องหมาย “ห้าม” “ขอ” “ขัดใจ” ห้าม หรือภาษาถิ่นที่เรียกว่า ปักกำ กาหยัง หรือ กาแย เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปปักไว้ในที่หวงห้าม เช่น ห้ามจับปลาในหนองน้ำ ห้ามนำวัวควายเข้ามากินหญ้าขอ เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปปักไว้ในที่ที่ต้องการจะขอจากเจ้าของ แต่ไม่มีโอกาสร้องขอด้วยวาจา เช่น ขอเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืชผลขัดใจ เป็นเครื่องหมายที่ใช้คู่กับเครื่องหมาย ห้าม เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ถ้ามีการละเมิดก็จะต้องมีการขัดใจกัน
- ชาวไทยพุทธในภาคใต้ไม่นิยมกินเนื้อกระบือ เนื่องจากเป็นสัตว์มีคุณที่ได้อาศัยทำมาหากิน จึงไม่ควรฆ่ากิน
- ชาวใต้จะเกี่ยวข้าวโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แกะ เพื่อเก็บเอาเฉพาะรวงเท่านั้น เพราะข้าวที่เก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ต้นสูง สำหรับหนีน้ำ บางครั้งต้องพายเรือเกี่ยวข้าว
- ชาวใต้นิยมกินผักสด หรือที่เรียกว่า ผักเหนาะ เนื่องจากภาคใต้อุดมไปด้วยพืชผักพื้นบ้านนานาชนิด ที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ มีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูง อีกทั้งยังเป็นสมุนไพร ช่วยบำรุงร่างกาย รวมทั้งช่วยตัดทอนความเผ็ดร้อนของอาหาร เมื่อประกอบกับอาหารประเภทอื่นที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งหอย ปู กุ้ง ปลา ทำให้คนใต้มีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
ภูมิปัญญาในด้านความสัมพันธ์และการพึ่งพาจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายเป็นตัวกำหนดสำคัญที่ทำให้ชุมชนแตกต่างไปจากภาคอื่นๆ ทั้งลักษณะการตั้งถิ่นฐาน และการทำมาหากิน อย่างสำคัญประการหนึ่งคือชุมชนต่างๆ ของชาวใต้ ไม่อาจอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเองโดยลำพัง ชาวสวนผลไม้ สวนยาง และเหมืองแร่ในป่า ต้องการข้าว กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง จากหมู่บ้านพื้นราบหรือชายฝั่ง ขณะเดียวกันหมู่บ้านเหล่านี้ก็ต้องการของป่า เครื่องเทศ สมุนไพร ฟืนจากป่าเขา การไปมาหาสู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารของกินของใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและได้ทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ก่อให้เกิดกลไกความสัมพันธ์และการพึ่งพาระหว่างคนต่างชุมชน ซึ่งเป็นแบบฉบับของชนชาวใต้ดังเช่นปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้
1. ธรรมเนียมการเป็นเกลอกัน มักจะทำกันตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจัดการให้ เพราะต้องการสานมิตรไมตรีที่ผูกพันกันอยู่ก่อนแล้วให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่ก็มีไม่น้อยคู่ที่ยินดีเป็นเกลอกันเองเพราะได้รู้จักมักคุ้นกันเป็นพิเศษ เมื่อเป็นเกลอกันแล้วญาติของทั้งสองฝ่ายต่างให้ความรักใคร่ผูกพันคู่เกลอเสมือนญาติคนหนึ่ง
2. วันนัด เป็นวันที่จัดให้มีตลาดนัดขึ้นเพื่อชุมชนจะได้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ในท้องถิ่นนั้นๆ โดยกำหนดสถานที่หมุนเวียนกันไป นอกจากนี้แล้วยังใช้เป็นวันนัดหมายพบปะกันแทนการใช้ปฏิทิน สำหรับชี้แจงข้อราชการ หรือกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ
3. วันว่าง จะตรงกับวันสงกรานต์ของภาคอื่นๆ แต่ธรรมเนียมปฏิบัติจะแตกต่างกัน โดยตลอดระยะเวลาวันว่าง ทุกครัวเรือนจะหยุดทำมาหากิน ไม่ด่าว่าร้ายใคร ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดูแลบ้านเรือนของตนให้สะอาด รักษาอารมณ์ให้แจ่มใส แสดงกตเวทีต่อผู้ใหญ่ด้วยการรดน้ำดำหัว และตักบาตรฟังธรรม
4. กินงาน กินวาน ข้าวหม้อแกงหม้อ เป็นวัฒนธรรมการพึ่งพาของชาวใต้โดยใช้ธรรมเนียมการกินเป็นตัวชักนำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันในงานที่แต่ละครอบครัวไม่สามารถทำเองได้ เช่น งานศพ งานบวช เกี่ยวข้าว ทอดกฐิน และทอดผ้าป่า

ภูมิปัญญาในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้เป็นภูมิปัญญาและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมเกษตรกรรมที่ได้มีการสืบสานความรู้ ความสามารถและความชำนาญต่างๆ มายังคนรุ่นปัจจุบัน สิ่งใดประดิษฐ์ขึ้นใช้แล้วไม่ได้ผลหรือมีสิ่งอื่นที่ดีกว่าก็จะเสื่อมสลายไป สิ่งใดใช้ได้ดีและสะดวกต่อการผลิตสิ่งนั้นก็ยังคงอยู่ อีกทั้งยังมีการสอดแทรกคุณค่าทางด้านศิลปะลงในงานด้วย หัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้เป็นการนำเอาวัตถุดิบในธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชพรรณที่มีอยู่อย่างมากมาย ทั้งบนบกและในน้ำ เช่น ไม้ไผ่ หวาย กระจูด กก มะพร้าว ลิเพา รวมถึงปาล์ม นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น
- ไม้ไผ่ ลำต้นสามารถใช้เป็นส่วนผสมของยาหลายขนาน เป็นแร้วดักสัตว์ ทำตะกร้า กระบุง เข่ง ชลอม และทำแพ ส่วนหน่อใช้ปรุงเป็นอาหาร
- มะพร้าว รากสามารถใช้ทำยา ลำต้นใช้ทำเสาและเครื่องเรือน ผลนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร ใบใช้ห่อของหรือทำไม้กวาด
- ย่านลิเพา นำมาทำของใช้ ที่นิยมกันได้แก่ หมาก กล่องยาเส้น พาน และหมวก มีราคาค่อนข้างสูง เพราะเป็นงานจักสานที่ต้องใช้ความประณีตบรรจง
- ปาล์ม หรือ หมาก ใช้ทำภาชนะตักน้ำที่เรียกว่า “หมา” โดยทำมาจากส่วนที่เป็นกาบหรือใบ สามารถใช้ตักหรือวิดน้ำได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้แล้วยังมีงานหัตถกรรมที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เหล็กขูด หรือ กระต่ายขูดมะพร้าว สำหรับนำเนื้อมะพร้าวมาทำอาหารทั้งคาว-หวาน โดยจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามจินตนาการของผู้ประดิษฐ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเป็นรูปสัตว์ แสดงให้เห็นถึงความมีอารมณ์ขันและมีวัฒนธรรมการรับประทานที่ผูกพันอยู่กับมะพร้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในดินแดนแถบนี้

ภูมิปัญญาในด้านสมุนไพร ตั้งแต่อดีตกาลภาคใต้เป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แม้ในปัจจุบันจะได้นำไปใช้บ้าง แต่ก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความรู้และประสบการณ์ของบรรพบุรุษในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง สมุนไพรถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวใต้ได้รับการถ่ายทอดมาจนปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ชาวใต้ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับป่าดงพงไพร ความจำเป็นเมื่อเจ็บป่วยบังคับให้คนเหล่านี้ต้องเสี่ยงชีวิตเก็บเอาสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็น พืช สัตว์ หรือสินแร่ มาทดลองใช้ในลักษณะลองผิดลองถูก จนประจักษ์แจ้งในสรรพคุณของสิ่งที่ใช้บำบัดรักษา ดังเช่น พวกเงาะป่า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งขุนเขาและมีความชำนาญในเรื่องสมุนไพร สิ่งที่พวกเขานำมาใช้เป็นสมุนไพรทั้งที่เป็นยาบำบัดและยาบำรุง อันมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของคนกลุ่มอื่น ได้แก่ ยาแก้ปวดเมื่อย พวกเงาะจะเรียกว่า “เลาะเคาะ” เป็นพืชคล้ายต้นฝรั่ง ใช้ต้มเอาน้ำมานวดบริเวณที่ปวดเมื่อย ยาคุมกำเนิด เป็นรากไม้ให้ผู้หญิงแทะกินหรือกินกับหมาก ยาเสริมกำลังทางเพศ หรือ “ตาง๊อต” มีลักษณะคล้ายหัวเผือก เปลือกสีขาว ใช้กินสดหรือแห้งก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วยาขนานต่างๆ เหล่านี้เป็นการใช้สมุนไพรเพียงชนิดเดียวในทำนองเดียวกันคนไทยพุทธ ไทยมุสลิม คนไทยเชื้อสายจีน ก็ย่อมเก็บสะสมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและยาที่มีคุณค่าต่อร่างกาย โดยการบอกกล่าวกันต่อๆ มา หรือได้ทดลองด้วยตัวเอง เริ่มจากของใกล้ตัว เช่น หอม กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ จนขยายขอบเขตกว้างขวางออกไปเป็นการใช้พืชพรรณในป่า นอกจากนั้นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับคนต่างชาติพันธุ์ ล้วนเป็นการขยายฐานความรู้และเกิดการพัฒนาปรับปรุงเป็นยาขนานต่างๆ มากขึ้น เช่น ยากระชับลำไส้ ซึ่งเป็นส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด ใช้ขับลมในกระเพาะอาหาร ยากำลังราชสีห์ เป็นส่วนผสมของดอกไม้หลายชนิด ใช้สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วมีบุตรยากช่วยให้มีบุตรได้ ยาแก้โรคไต เป็นส่วนผสมของรากไม้หลายชนิดดองกับเหล้าขาว ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว นอกจากนี้แล้วเพื่อให้เกิดผลในทางจิตวิทยา หรือเป็นกำลังใจให้กับคนป่วย อาจจะมีการร่ายเวทมนต์คาถาประกอบ
ภูมิปัญญาในด้านทัศนคติ โดยภาพรวมแล้วทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมของชาวใต้มิได้แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นเท่าใดนัก เว้นแต่จะผูกพันแนบแน่นอยู่กับธรรมชาติที่เป็นคาบสมุทร รวมทั้งการได้แลกเปลี่ยนสังสรรค์กับคนจากวัฒนธรรมอื่นอย่างต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานับพันปี ทำให้เกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสภาพดังกล่าวนี้เป็นลักษณะเด่นที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติที่เป็นภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น และถือปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานของชาวใต้ ดังเช่นต่อไปนี้ 1. ด้านสิ่งแวดล้อม คนในภาคใต้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับธรรมชาติในลักษณะที่ได้รับการเกื้อกูลจากธรรมชาติอย่างล้นเหลือมาแต่อดีต เพียงแค่เก็บเกี่ยวเอาทรัพยากรที่มีอยู่มากินใช้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองก็อยู่ได้อย่างสบายโดยไม่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษเหมือนกับภูมิภาคอื่น ในทัศนะของชาวใต้ คนจึงมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติที่ยอมรับอิทธิพลของธรรมชาติ จะเห็นได้จากการปลูกสร้างบ้านเรือน การทำมาหากิน ดังนั้นคนที่นี่จึงเคารพธรรมชาติ จะทำการสิ่งใดเพื่อการครองชีพก็จะบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองอยู่ ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมต่างๆ เช่น
- พิธีขอป่า เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านภาคใต้ทำขึ้นเพื่อขอตัดไม้ในป่า สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนหรือที่ทำกิน โดยการนำอาหารคาวหวานพร้อมกับตัดกิ่งไม้เป็นรูปตะขอมาเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา แล้วอธิษฐานขออนุญาตเข้าถางป่า นอกจากนี้แล้วการแสดงออกถึงการยอมรับนับถือความสำคัญของธรรมชาติและปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติยังเห็นได้ในพิธีกรรมการเคารพแม่โพสพ เคารพขุนเขา และเคารพแผ่นดินเกิดด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ พืชพรรณธัญญาหารที่มีอยู่ทั่วไปไม่ขาดแคลน ประกอบกับความศรัทธาในศาสนาที่สอนให้ไม่โลภ ไม่สะสม หมั่นทำบุญทำทาน เมื่อเปรียบเทียบกับคนในภูมิภาคอื่น คนใต้จึงดูสมถะ เรียบง่าย เพียงพอแล้วในปัจจัยสี่ จุดมุ่งหมายของชีวิตไม่ได้หยุดอยู่ที่การกินอยู่อย่างมั่งคั่ง หากแต่จะอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด

2. การปกครอง ตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมาหัวเมืองปักษ์ใต้มิได้ถูกปกครองอย่างใกล้ชิดจากเมืองราชธานี แต่จะอาศัยเมืองหลักอย่างนครศรีธรรมราชและสงขลาเป็นศูนย์กลางปกครองดูแลอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองปักษ์ใต้จึงไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น หัวเมืองต่างๆ มีอิสระในการปกครองและดูแลกันเอง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นแบบนี้ทั้งหมด แต่หลายๆ หมู่บ้านก็เกิดจากการสร้างตัวด้วยลำแข้งของตนเองท่ามกลางสภาพธรรมชาติที่เกื้อกูลเป็นอันดี ชาวใต้จึงมีทัศนะในการปกครองแบบพึ่งพาตนเอง รักอิสระ รักความเป็นธรรม
3. สถานภาพ สังคมของคนชาวใต้ให้ความสำคัญกับเพศชายสูงกว่าเพศหญิง ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังให้ผู้หญิงเป็นผู้มีคุณค่าสมเป็นกุลสตรีไทย ซึ่งมีทัศนะต่างๆ ดังต่อไปนี้
- การยกย่องบุรุษเพศในการเป็นหัวหน้าครอบครัว พร้อมกันนั้นก็คาดหวังว่าบุรุษต้องเป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม และต้องเป็นคนจริง คือ เชื่อถือได้ไม่เหลวไหล
- ในการยกย่องบุรุษเพศ ชาวใต้นิยมนับถือ นักเลง ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีบุคลิคพิเศษ มีน้ำใจ เป็นคนใจกว้าง กล้าได้กล้าเสีย รักษาคำพูด รักพวกพ้อง ซึ่งในท้องถิ่นที่ฝ่ายปกครองดูแลไม่ทั่วถึง นักเลงจะทำหน้าที่ดูแลจัดการให้ท้องถิ่นมีความสงบเรียบร้อย พร้อมๆ กับคอยปกปักรักษาผลประโยชน์ของตนเองและบริวาร ไม่ให้นักเลงถิ่นอื่นเข้ามารังแก
- ชาวใต้ให้คุณค่าต่อพรหมจารีของผู้หญิงสูงมาก โดยยึดถือกันทั่วไปว่า สตรีต้องรักนวลสงวนตัว ประพฤติตนเรียบร้อย สำรวมกริยามารยาท มีความเป็นแม่ศรีเรือน ข้อยึดถือเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงภาคใต้จะไม่สนทนาปราศรัยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่น่าไว้วางใจ ฝ่ายผู้ชายก็จะไม่มีนิสัยพูดจาแทะโลมผู้หญิง
การปลูกฝังคุณธรรม ในความเป็นสังคมเปิดที่มีเครือข่ายระบบความสัมพันธ์กว้างขวางและต้องปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับการที่ต้องรักษาความเชื่อแบบธรรมเนียมที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมไว้เพื่อให้การดำเนินชีวิตราบรื่นผาสุขตามครรลองที่สืบทอดกันมา สังคมชาวใต้จึงมีกรรมวิธีปลูกฝังรักษาความเชื่อและบรรทัดฐานของสังคมไว้ในหลายๆ วิธี ด้วยการอาศัย บ้าน ชุมชน วัด พิธีกรรม วรรณกรรมท้องถิ่น เป็นตัวถ่ายทอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมคำสอน สุภาษิต ตลอดจนการละเล่นต่างๆ เมื่อคนเติบโตขึ้นท่ามกลางค่านิยมและแบบอย่างความประพฤติ ในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมตามขนบประเพณีที่ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือตอกย้ำ ก็จะเกิดการซึมซับรับเอาโดยอัตโนมัติ ซึ่งชาวใต้มีวิธีการปลูกฝังและรักษาบรรทัดฐานของสังคมดังนี้ 1. เพลงกล่อมเด็ก สังคมภาคใต้เป็นสังคมเกษตรกรรมเน้นการบอกเล่ามากกว่าการอ่าน การปลูกฝังจึงเริ่มตั้งแต่เยาว์วัยด้วยการอบรมเลี้ยงดูในบ้านอันประกอบด้วย พ่อแม่ และเครือญาติ ด้วยน้ำเสียงที่เห่กล่อมก่อให้เกิดความอบอุ่นและสุขกายสบายใจแก่เด็กอ่อน ส่วนเนื้อหาที่แฝงอยู่ด้วยเรื่องคุณธรรมเป็นสิ่งที่ต้องการจะสื่อให้กับเด็กโตที่พอจะเข้าใจ รวมทั้งวงศาคณาญาติที่ได้ยินได้ฟัง 2. วรรณกรรมคำสอนและสุภาษิต สังคมภาคใต้มีวรรณกรรมที่ยึดหลักคำสอนของพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีการสอดแทรกคตินิยมพื้นบ้านไว้ด้วยโดยประสมประสานกันไป ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแนะนำสั่งสอนจริยธรรม ค่านิยม ให้คนในสังคมทุกลำดับชั้น ดังเช่น
-สุภาษิตร้อยแปด พุทธภาษิต ต้นสมุดสุภาษิต เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนบุคคลทั่วไป ให้รู้จักประมาณตน เว้นจากอบายมุข มีคุณธรรม
-ปริศนาสอนน้อง สุภาษิตสอนหญิงคำกาพย์ เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนสตรี ให้มีมารยาทดีงาม
-พาลีสอนน้อง เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนขุนนางข้าราชการ ให้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ รักเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่พึ่งของประชาชน
-พระอนิจจลักขณุกถา เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนพระสงฆ์ ให้เคร่งในศีลในธรรม
3. ไหว้ดี เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ได้กลายเป็นกิจวัตรส่วนหนึ่งของชาวภาคใต้เพราะเชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะเป็นมงคลแก่ตัวเองและนำความสวัสดีมีชัยมาให้ โดยเป็นการสวดเพื่อระลึกถึงคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ช่วยคุ้มครองและบันดาลให้สัมฤทธิ์ผใปรนา
4. พิธีลอยเคราะห์ คนไทยภาคใต้มีความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ว่า คนเราทุกคนมีช่วงเวลาที่ดาวพระเคราะห์มาเสวยอายุ ยามใดที่ดาวพระเคราะห์มาเสวยอายุก็จะเกิดโทษกับผู้นั้น อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเหตุการณ์ร้ายๆ มากระทบต่อการดำเนินชีวิตของตัวเองและญาติมิตร ดังนั้นจึงนิยมลอยเคราะห์เพื่อให้ตนพ้นจากเคราะห์กรรมนั้น ด้วยการนำต้นกล้วยมาทำเป็นแพ แล้วเอาผม เล็บ ขี้ไคล รวมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน ใส่ในแพลอยน้ำไป
5. การสื่อข่าวสาร การละเล่นของชาวบ้านภาคใต้ที่สืบทอดกันมา ทั้งหนังตะลุง โนรา เพลงบอก คำตัก ตลอดจนลิเกป่า ล้วนแต่มีบทบาทต่อสังคม ซึ่งนอกเหนือจากความบันเทิงแล้วยังทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ท่วงทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ศิลปะการแสดงเหล่านี้มีจุดเด่นอยู่ที่ท่วงทำนอง จังหวะ ถ้อยคำสำนวนที่เต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ และน้ำเสียงอันก่อให้เกิดความหรรษา ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของชาวบ้านมากกว่าสื่อธรรมดา

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550


ทฤษฎีใหม่ : การบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรตามพระราชดำริ
ในทุกคราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้นได้ทรงถามเกษตรกรและทอดพระเนตรพบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการปลูกข้าวและเกิดแรงดล พระราช หฤทัย อันเป็นแนวคิดขึ้นว่า
1. ข้าวเป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก หากได้น้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มปริมาณเม็ดข้าวได้มากยิ่งขึ้น
2. หากเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ได้แล้ว นำมาใช้ในการเพาะปลูกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นเช่นกัน
3. การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นับวันแต่จะยากที่จะดำเนินการได้เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัด ของปริมาณที่ดิน เป็นอุปสรรคสำคัญ
4.หากแต่ละครัวเรือนมีสระน้ำประจำไร่นาทุกครัวเรือนแล้วเมื่อรวมปริมาณกันก็ย่อมเท่ากับปริมาณในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แต่สิ้นค่าใช้จ่ายน้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงมากกว่า
ในเวลาต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำการทดลอง"ทฤษฎีใหม่"เกี่ยวกับการจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรขึ้นณวัดมงคลชัยพัฒนาตำบลห้วยบงอำเภอเมืองจังหวัดสระบุรีแนวทฤษฎีใหม่กำหนดขึ้นดังนี้ให้แบ่งพื้นที่ถือครอง ทางการเกษตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทย มีเนื้อที่ดินประมาณ 10-15 ไร่ต่อครอบครัว แบ่งออกเป็นสัดส่วน 30-30-30-10 คือ
ส่วนแรก : ร้อยละ 30 เนื้อที่เฉลี่ย 3 ไร่ ให้ทำการขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก โดยมีความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้จุถึง 19,000 ลูกบาศก์เมตรโดยการรองรับจากน้ำฝน ราษฎรจะสามารถนำน้ำนี้ไปใช้ในการเกษตร ได้ตลอดปีและยังสามารถเลี้ยงปลาและปลูกพืชน้ำ พืชริมสระเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนที่สอง : ร้อยละ 60 เนื้อที่เฉลี่ย ประมาณ 10 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชผลต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็น2ส่วนคือร้อยละ30ในส่วนที่หนึ่ง:ทำนาข้าวประมาณ5ไร่ร้อยละ30ในส่วนที่สองปลูกพืชไร่หรือพืชสวนตามแต่สภาพ ของ พื้นที่และภาวะตลาด ประมาณ 5 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวนโดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ในพื้นที่ทำการเกษตร นี้ต้องมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ถ้าหากแบ่ง แต่ละแปลงเกษตรให้มีเนื้อที่ 5 ไร่ ทั้ง 2 แห่งแล้ว ความต้องการน้ำจะต้อง ใช้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะต้องเป็นน้ำสำรองไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง
ส่วนที่สาม : ร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ที่ เหลือ มีเนื้อที่เฉลี่ยประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง คันคูดินหรือคูคลอง ตลอดจนปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวพระราชดำริใหม่ที่บัดนี้ได้รับการพิสูจน์และยอมรับกันอย่าง กว้างขวางในหมู่เกษตรกรไทยแล้วว่า พระราชดำริของพระองค์เกิดขึ้นด้วย พระอัจฉริภาพ สูงส่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ความสมบูรณ์พูนสุขแห่งราชอาณาจักรไทย อุบัติขึ้นในครั้งนี้ด้วยพระปรีชาสามารถอันเฉียบแหลมของพระมหากษัตริย์ไทยผู้มิเคยทรงหยุดนิ่งที่จะระดมสรรพกำลังทั้งปวงเพื่อความผาสุข ของชาวไทย



คำถามท้ายหน่วยการเรียนที่ 4
จงเติมคำลงในช่องว่างต่อไปนี้ให้สมบูรณ์และถูกต้อง
1. คำว่า Communis แปลว่า คล้ายคลึง หรือร่วมกัน
2. การสื่อความหมาย หมายถึง กระบวนการส่งหรือถ่ายทอดความรู้ เนื้อหา สาระ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ค่านิยม ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์จากบุคคลฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้ส่ง” ไปยังบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้รับ”

3.


4. สาร หมายถึง เนื้อหา สาระ ความรู้สึก ทัศนคติ ทักษะ ประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวผู้ส่ง หรือแหล่งกำเนิด
5. Elements หมายถึง องค์ประกอบย่อย ๆ พื้นฐานที่จำเป็นต้อง ตัวอย่างเช่น สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ หรือสีแดง สีเหลือง เส้น เป็นต้น
6. Structure หมายถึง โครงสร้างที่เกิดจากการนำเอาองค์ประกอบย่อย ๆ มารวมกัน
ตัวอย่างเช่น คำ ประโยค หรือสีสันของรูปร่าง รูปทรง เป็นต้น
7. Content หมายถึง ข้อมูลที่เป็นความรู้สึกนึกคิด ความต้องการของผู้ส่ง ข้อมูลนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร สอดคล้องเหมาะสมกับอะไร จะวางแผนในการเข้ารหัส และจัดส่งอย่างไร แต่ละแนวทางอาจได้ผลที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น เนื้อหาเรื่องที่จะสอน ความรู้สึก ความคิด เป็นต้น
8. Treatment หมายถึง วิธีการเลือก การจัดรหัสและเนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบที่จะสามารถถ่ายทอดความต้องการของผู้ส่งไปยังผู้รับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ส่งแต่ละคนจะมีวิธีการหรือเทคนิคเฉพาะตัว บางทีเรียกว่า Style ในการสื่อความหมาย
ตัวอย่างเช่น วิธีการสอน
9. Code หมายถึง กลุ่มสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาจัดแทนความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ ผู้ส่งสารจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะใช้รหัสแบบใดจึงจะบรรลุเป้าหมายได้ดีที่สุด
ตัวอย่างเช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ดนตรี ภาพวาด กิริยาท่าทาง เป็นต้น
10. อุปสรรคหรือสิ่งรบกวนภายนอก เช่น เสียงดังรบกวน อากาศร้อน กลิ่นไม่พึงประสงค์ แสงแดด ฝนสาด ฯลฯ
11. อุปสรรคหรือสิ่งรบกวนภายใน เช่น ความเครียด อารมณ์ขุ่นมัว อาการเจ็บป่วย ความวิตกกังวล ฯลฯ
12. Encode หมายถึง การเข้ารหัสหรือแปลความต้องการของตนเป็นสัญลักษณ์หรือสัญญาณต่าง ๆ
13. Decode หมายถึง การถอดรหัสจากสัญลักษณ์หรือสัญญาณต่างๆ เป็นความต้องการ
14. จงอธิบายการสื่อความหมายในการเรียนการสอนมาให้ครบถ้วนและถูกต้อง
กระบวนการเรียนการสอนเป็นกระบวนการสื่อความหมายอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้


14.1 ครู ในฐานะเป็นผู้ส่งและผู้กำหนดจุดมุ่งหมายของระบบการสอน ครูจึงควรมีพฤติกรมดังนี้
- ต้องมีความเข้าใจในเนื้อหาที่จะสอนเป็นอย่างดี
- มีความสามารถในการสื่อความหมาย เช่น การพูด การเขียน ลีลา ท่าทาง ฯลฯ
- ต้องจัดบรรยากาศในการเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้
- ต้องวางแผนจัดระบบการถ่ายทอดความรู้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียน
14.2 เนื้อหา, หลักสูตร ตลอดจนทัศนคติ ทักษะ และประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ครูจะถ่ายทอดไปสู่ผู้เรียน ดังนั้นเนื้อหาควรมีลักษณะดังนี้
- เหมาะสมกับเพศและวัยของผู้เรียน
- สอดคล้องกับเทคนิค วิธีสอน หรือสื่อต่าง ๆ
- เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกาลเวลา ควรปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ และควรเรียงลำดับจากเนื้อหาง่ายไปยาก
14.3 สื่อหรือช่องทาง เป็นตัวกลางหรือพาหะที่จะนำเนื้อหาจากครูผู้สอนเข้าไปสู่ภายในของผู้เรียน ลักษณะของสื่อควรเป็นดังนี้
- มีศักยภาพเหมาะสมกับธรรมชาติของเนื้อหา
- สอดคล้องกับธรรมชาติของประสาทสัมผัสแต่ละช่องทาง
- เด่น สะดุดตา ดูง่าย สื่อความหมายได้ดี
14.4 นักเรียนหรือผู้เรียน เป็นเป้าหมายหลักของกระบวนการเรียนการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนจึงควรมีลักษณะดังนี้
- มีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกาย โดยเฉพาะประสาทสัมผัสทั้ง 5
- มีความพร้อมทางด้านจิตใจ อารมณ์มั่นคงปกติ
- มีทักษะในการสื่อความหมาย
- มีเจตคติต่อครูผู้สอนและเนื้อหาวิชา
15. จงอธิบายถึงความล้มเหลวชองการสื่อความหมายในการเรียนการสอน
กระบวนการเรียนการสอนมักจะประสบความล้มเหลวบ่อยๆ เนื่องจากอุปสรรคหลายประการดังนี้
1. ครูผู้สอนไม่บอกวัตถุประสงค์ในการเรียนให้ผู้เรียนทราบก่อนลงมือสอน ทำให้ผู้เรียนขาดเป้าหมายในการเรียน
2. ครูผู้สอนไม่คำนึงถึงข้อจำกัดและขีดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน จึงมักใช้วิธีสอนแบบเดียวกันทุกคน
3. ครูผู้สอนไม่สนใจที่จะจัดบรรยากาศ ขจัดอุปสรรคและสร้างความพร้อมให้แก่ผู้เรียนก่อนลงมือสอน
4. ครูผู้สอนบางคนใช้คำยาก ทำให้ผู้เรียนไม่เข้าใจความหมายของคำ และเนื้อหาโดยรวม
5. ครูผู้สอนมักนำเสนอเนื้อหาวกวน สับสน รวดเร็ว ไม่สัมพันธ์ต่อเนื่อง กระโดดไปมา ทำให้เข้าใจยาก
6. ครูผู้สอนไม่สนใจที่จะใช้สื่อการสอนหรือเลือกใช้สื่อการสอนไม่เหมาะกับเนื้อหา และระดับผู้เรียน
ดังนั้น ในกระบวนการเรียนการสอนจึงควรคำนึงถึงอุปสรรคต่าง ๆ และพยายามขจัดให้หมดไป เพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น



วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

นวัตกรรมใหม่ "เลเซอร์เพื่อการอุดฟัน"

ทุกครั้งเมื่อไปทำฟันโดยเฉพาะการอุดฟัน หลายคนคงนึกถึงการเสียวฟัน ขณะกรอฟัน การฉีดยาชา และบางคนนึกถึงเสียงหวีดดังของหัวกรอฟัน ซึ่งยิ่ง ทำให้การมาอุดฟันน่ากลัวมากขึ้น ในบางคนเสียงดังของเครื่องกรอฟันนี้น่ากลัว กว่าการเสียวฟันเสียอีก แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะทำให้การมาอุดฟันในคราวต่อไปเปลี่ยนไป เนื่องจากสามารถกรอฟันเพื่อการอุดฟันได้โดย เครื่องเลเซอร์ทางทันตกรรม หรือเออร์เบี่ยมแยคเลเซอร์ (Er-Yag Laser) ซึ่งมีการพัฒนาเพื่อการกรอ ตัดฟันโดยเฉพาะ และนอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการตกแต่งเหงือกได้อีกด้วย โดยอาศัยหลักการการดูดซับพลังงานเลเซอร์ จากน้ำในเนื้อเยื่อ หรือน้ำ บริเวณผิวฟัน เมื่อโมเลกุลของน้ำดูดซับพลังงาน ก็จะเกิดการปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการกรอตัดฟันหรือเนื้อเยื่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทำการตัดแต่ง เนื้อเยื่ออ่อนหรือเหงือกด้วยเลเซอร์ จะทำให้เกิดการเลือดออกน้อยมาก เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะของเลเซอร์ ที่ทำให้เกิดความร้อนเล็กน้อย บริเวณรอยตัด เป็นการห้ามเลือดขณะตัดไปพร้อมๆ กัน
ข้อได้เปรียบของการกรอฟันด้วยเลเซอร์
· กรอตัดฟันได้อย่างนุ่มนวลไร้ความรู้สึกสะเทือน หรือสัมผัส ผิวฟัน โดยมีลักษณะเป็นเพียงแรงลมและน้ำพ่นบนผิวฟัน พร้อมกับลำแสงเลเซอร์เท่านั้น ทำให้ไม่เกิดความร้อน หรือรู้สึก สะเทือนขณะกรอฟัน
· เสียงดังน้อยกว่าเครื่องกรอฟันปกติ โดยเปลี่ยนจากเสียง หวีดแหลมแสบหู เป็นเสียงดังเป็นจังหวะแบบเสียงป๊อบคอร์น ทำให้ความรู้สึกต่อเสียงลดลงจากเครื่องกรอฟันแบบเดิม
· ลดอาการเสียวฟันโดยการตั้งค่าพลังงานที่เหมาะสม เลเซอร์จะทำการกรอตัดเฉพาะฟันผุ ซึ่งมีคุณสมบัติต่างจาก เนื้อฟันที่ไม่ผุ โดยมีน้ำในเนื้อฟันผุมากกว่าที่เนื้อฟันปกติ ทำให้ เลเซอร์สามารถจำเพาะเจาะจงในการกรอตัดเฉพาะฟันผุได้ ดังนั้น เมื่อไม่ได้กรอตัดเนื้อฟันปกติ การเคลื่อนที่ของน้ำในท่อเนื้อฟัน ก็จะลดลง อาการเสียวฟันก็ลดลงไปด้วย แต่ในบางกรณี อาจจะยังเสียวได้เล็กน้อยเนื่องจากทางลมและน้ำที่พ่นลงบนฟัน อย่างไรก็ตามหากเกิดการเสียวฟันและแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ ทันตแพทย์จะทำการตั้งค่าพลังงานเลเซอร์ใหม่ ซึ่งจะทำให้ อาการเสียวฟันลดลงในที่สุด มีผู้รับบริการประมาณ 5-10 % ต้องการยาชาแม้จะกรอด้วยเลเซอร์ก็ตาม แต่ผู้รับบริการส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา
· ปรับสภาพผิวเคลือบฟัน เพื่อเพิ่มการยึดอยู่ของวัสดุอุดฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดคอฟัน ซึ่งมักจะพบวัสดุอุดหลุดได้บ่อยๆ การกรอด้วยเลเซอร์ก่อนอุดฟัน จะทำให้การยึดอยู่ของวัสดุอุดฟัน อยู่ได้นานกว่าปกติ

ข้อด้อยของการกรอฟันด้วยเลเซอร์
· ความเร็วในการกรอตัดฟันอาจจะช้ากว่าการกรอตัดฟัน ด้วยหัวกรอปกติบ้าง แต่หากตั้งค่าพลังงานที่เหมาะสม ก็จะเพิ่ม ความเร็วในการกรอตัดได้ใกล้เคียงกับหัวกรอปกติ เพียงแต่ จะมีเสียงดังมากกว่าเดิมเท่านั้น แต่เมื่อกรอถึงชั้นเนื้อฟัน ซึ่งมี ความแข็งน้อยกว่าเคลือบฟันชั้นนอก ทันตแพทย์จะทำการปรับ ค่าพลังงานใหม่ให้พอเหมาะกับการกรอเนื้อฟัน เพื่อป้องกันอาการ เสียวฟัน
· ข้อจำกัดในลักษณะของหัวกรอเลเซอร์ที่ต้องมีการกรอใน ลักษณะแนวตรงเท่านั้น หากฟันผุอยู่หลบใต้หลืบของโพรงฟัน ต้องทำการกรอเปิดโพรงฟันให้กว้างขึ้น เพื่อให้เป็นแนวตรง ไปสู่ฟันผุ ซึ่งอาจจะทำให้โพรงฟันกว้างกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์จะพิจารณาใช้หัวกรอปกติร่วมด้วยเพื่อการอนุรักษ์เนื้อฟัน มากที่สุด
· เลเซอร์ไม่สามารถใช้รื้อวัสดุอุดอมัลกัมเก่าได้เนื่องจาก อมัลกัมเป็นวัสดุจำพวกโลหะ หรือการรื้อวัสดุอุดสีเหมือนฟันเก่า ต้องใช้ค่าพลังงานมาก และใช้เวลามากกว่าหัวกรอปกติ · เครื่องเลเซอร์มีราคาสูง ทำให้ไม่มีใช้ทั่วไปในคลินิก หรือ โรงพยาบาลต่างๆ และทันตแพทย์ที่ใช้เลเซอร์ในการกรอฟัน ยังมีจำนวนน้อยอยู่จะเป็นได้ว่านวัตกรรมใหม่ในการกรอฟันด้วยเครื่องเลเซอร์ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนไข้ที่กลัวการทำฟัน หรือกลัว การฉีดยาชา ทำให้ลดความตึงเครียดขณะทำฟันได้ในระดับหนึ่ง และเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยและน่าลองสัมผัสดูครับ