วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้
ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการพัฒนา การปรับตัว ปรับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ที่ประกอบด้วยคนไทยและอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในคาบสมุทรมีคนมาเลย์ คนจีน และคนที่มาจากอินเดียฝ่ายใต้ แต่กลุ่มชนที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ไทยสยาม โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแหลมทอง มีทะเลกว้างใหญ่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในทะเล และบนแผ่นดิน อันล้วนเป็นเขตมรสุมใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผู้คนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรมเดินทางมาทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อมาตั้งหลักแหล่ง แสวงหาโภคทรัพย์และทำมาค้าขายเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานกว่าพันปี มีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันหลายลักษณะ ทั้งบริเวณชายทะเล ที่ราบระหว่างชายทะเลกับเทือกเขา หลังเขา และตามสายน้ำน้อยใหญ่จำนวนมากที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน ภูมิปัญญาของภาคใต้จึงมีความหลากหลาย ทั้งที่ได้พัฒนาการจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หรือคนต่างถิ่นที่พกพามาจากแหล่งอารยธรรมต่าง ๆ จนหลอมรวมกันเกิดเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น ซึ่งมีอยู่ในหลายลักษณะคือภูมิปัญญาในด้านกาชีพ ภูมิปัญญาในด้านความสัมพันธ์และการพึ่งพาภูมิปัญญาในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาในด้านสมุนไพร ภูมิปัญญาในด้านทัศนะค ภูมิปัญญาในด้านการปลูกฝังคุณธรรมภูมิปัญญาในด้านการดำรงชีพ การแสวงหาปัจจัยพื้นฐานของการยังชีพถือเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของชนทุกชาติทุกภาษา ซึ่งวิธีการจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม สำหรับชนชาวใต้ที่มีทำเลตั้งถิ่นฐานค่อนข้างหลากหลายคือ มีทั้งที่ราบตามแนวชายฝั่ง ปากอ่าว ท่าเรือ ที่ราบเชิงเขา หลังเขา ตามแนวสายน้ำน้อยใหญ่ บนเกาะ ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน ทำให้ชาวใต้ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ ความสามารถ อย่างมากมายในการจัดการและปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ซึ่งมีอยู่หลายประการ คือ
1. การขุดสระน้ำ เพื่อให้ได้น้ำจืดใสสะอาดไว้กินไว้ใช้ตลอดทั้งปี เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล ยามที่น้ำขึ้น น้ำเค็มจะไหลเอ่อเข้ามาในแผ่นดิน จะอาศัยอาบกินก็ไม่สะดวก ดังนั้นจึงเกิดภูมิปัญญาในการหาทำเลขุดบ่อน้ำ ซึ่งบริเวณที่เหมาะสมควรจะเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
-บริเวณที่มีหญ้าขึ้นในฤดูแล้ง-บริเวณที่มีต้นกะพ้อ มะเดื่อ หรือมีจอมปลวก เป็นบริเวณที่มีความชื้นอยู่มาก น้ำใต้ดินอยู่ในระดับตื้น-ทดสอบโดยใช้กะลามะพร้าวผาซีก ไปคว่ำไว้ตามจุดที่สงสัยว่าจะมีตาน้ำ เมื่อหงายดู ถ้าพบว่ามีหยดน้ำจับอยู่มากก็เชื่อได้เลยว่าตาน้ำอยู่ไม่ลึก
2. การปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน ชาวใต้มีความเชื่อทำนองเดียวกันกับภาคอื่นว่าการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านต้องเลือกปลูกเฉพาะไม้ที่เป็นมงคลและปลูกให้ถูกทิศทาง โดยมีประโยชน์แฝงไว้เพื่อให้เกิดความร่มเย็นทั้งกายใจ ส่วนที่ห้ามปลูกในบริเวณบ้าน เป็นพวกไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขามาก หรือชื่อไม่เป็นมงคล เช่น เต่าร้าง ลั่นทม ความเชื่อนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการโคจรของดวงอาทิตย์ ทิศทางของลมมรสุม ความหนักเบาของฝน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน รวมถึงความเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ในแต่ละพันธุ์ด้วย
3. การปลูกสร้างบ้านเรือน จะมีลักษณะแตกต่างจากภาคอื่น ๆ คือ
- ชาวใต้นิยมแผ้วถางพื้นที่บริเวณบ้านให้เตียนเรียบจนเห็นเป็นพื้นทรายขาวสะอาด มีเหตุผลด้านสภาพแวดล้อมคือ การเดินเข้าออกสะดวก ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่มีอยู่อย่างชุกชุม
- บ้านเรือนมีหลังคาเตี้ยลาดชัน ยกพื้นสูง และไม่ฝังเสาลงดิน แต่จะวางอยู่บนตีนเสาที่เป็นก้อนหิน ไม้เนื้อแข็ง หรือ แท่งซีเมนต์หล่อ เนื่องจากฝนตกชุก ทำให้ดินอ่อนตัวโอกาสที่เสาจะทรุดตัวมีได้มากนอกจากนี้แล้วยังเป็นการป้องกันปลวกและเชื้อรากัดกิน
- ไม่ปลูกบ้านขวางตะวัน นิยมปลูกหันหน้าไปในแนวเหนือใต้ เพื่อหลบแสงแดดที่จะส่องเข้าบ้าน
4. อุบายในการครองชีพสังคมของชาวใต้มีเคล็ดหรืออุบายในการดำรงชีพและการทำมาหากินตาม
สภาพแวดล้อมหลายประการคือ
- เครื่องหมายแสดงเจตจำนง แต่เดิมชาวใต้ไม่รู้หนังสือหรือแม้จะรู้บ้าง แต่การสื่อความหมายโดยใช้เครื่องหมายบอกเจตจำนงก็ยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ยอมรับเป็นกติกาแห่งสังคมที่อยู่กินกันแบบพึ่งพาอาศัย ที่นิยมใช้กัน คือ เครื่องหมาย “ห้าม” “ขอ” “ขัดใจ” ห้าม หรือภาษาถิ่นที่เรียกว่า ปักกำ กาหยัง หรือ กาแย เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปปักไว้ในที่หวงห้าม เช่น ห้ามจับปลาในหนองน้ำ ห้ามนำวัวควายเข้ามากินหญ้าขอ เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปปักไว้ในที่ที่ต้องการจะขอจากเจ้าของ แต่ไม่มีโอกาสร้องขอด้วยวาจา เช่น ขอเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืชผลขัดใจ เป็นเครื่องหมายที่ใช้คู่กับเครื่องหมาย ห้าม เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ถ้ามีการละเมิดก็จะต้องมีการขัดใจกัน
- ชาวไทยพุทธในภาคใต้ไม่นิยมกินเนื้อกระบือ เนื่องจากเป็นสัตว์มีคุณที่ได้อาศัยทำมาหากิน จึงไม่ควรฆ่ากิน
- ชาวใต้จะเกี่ยวข้าวโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แกะ เพื่อเก็บเอาเฉพาะรวงเท่านั้น เพราะข้าวที่เก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ต้นสูง สำหรับหนีน้ำ บางครั้งต้องพายเรือเกี่ยวข้าว
- ชาวใต้นิยมกินผักสด หรือที่เรียกว่า ผักเหนาะ เนื่องจากภาคใต้อุดมไปด้วยพืชผักพื้นบ้านนานาชนิด ที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ มีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูง อีกทั้งยังเป็นสมุนไพร ช่วยบำรุงร่างกาย รวมทั้งช่วยตัดทอนความเผ็ดร้อนของอาหาร เมื่อประกอบกับอาหารประเภทอื่นที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งหอย ปู กุ้ง ปลา ทำให้คนใต้มีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
ภูมิปัญญาในด้านความสัมพันธ์และการพึ่งพาจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายเป็นตัวกำหนดสำคัญที่ทำให้ชุมชนแตกต่างไปจากภาคอื่นๆ ทั้งลักษณะการตั้งถิ่นฐาน และการทำมาหากิน อย่างสำคัญประการหนึ่งคือชุมชนต่างๆ ของชาวใต้ ไม่อาจอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเองโดยลำพัง ชาวสวนผลไม้ สวนยาง และเหมืองแร่ในป่า ต้องการข้าว กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง จากหมู่บ้านพื้นราบหรือชายฝั่ง ขณะเดียวกันหมู่บ้านเหล่านี้ก็ต้องการของป่า เครื่องเทศ สมุนไพร ฟืนจากป่าเขา การไปมาหาสู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารของกินของใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและได้ทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ก่อให้เกิดกลไกความสัมพันธ์และการพึ่งพาระหว่างคนต่างชุมชน ซึ่งเป็นแบบฉบับของชนชาวใต้ดังเช่นปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้
1. ธรรมเนียมการเป็นเกลอกัน มักจะทำกันตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจัดการให้ เพราะต้องการสานมิตรไมตรีที่ผูกพันกันอยู่ก่อนแล้วให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่ก็มีไม่น้อยคู่ที่ยินดีเป็นเกลอกันเองเพราะได้รู้จักมักคุ้นกันเป็นพิเศษ เมื่อเป็นเกลอกันแล้วญาติของทั้งสองฝ่ายต่างให้ความรักใคร่ผูกพันคู่เกลอเสมือนญาติคนหนึ่ง
2. วันนัด เป็นวันที่จัดให้มีตลาดนัดขึ้นเพื่อชุมชนจะได้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ในท้องถิ่นนั้นๆ โดยกำหนดสถานที่หมุนเวียนกันไป นอกจากนี้แล้วยังใช้เป็นวันนัดหมายพบปะกันแทนการใช้ปฏิทิน สำหรับชี้แจงข้อราชการ หรือกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ
3. วันว่าง จะตรงกับวันสงกรานต์ของภาคอื่นๆ แต่ธรรมเนียมปฏิบัติจะแตกต่างกัน โดยตลอดระยะเวลาวันว่าง ทุกครัวเรือนจะหยุดทำมาหากิน ไม่ด่าว่าร้ายใคร ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดูแลบ้านเรือนของตนให้สะอาด รักษาอารมณ์ให้แจ่มใส แสดงกตเวทีต่อผู้ใหญ่ด้วยการรดน้ำดำหัว และตักบาตรฟังธรรม
4. กินงาน กินวาน ข้าวหม้อแกงหม้อ เป็นวัฒนธรรมการพึ่งพาของชาวใต้โดยใช้ธรรมเนียมการกินเป็นตัวชักนำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันในงานที่แต่ละครอบครัวไม่สามารถทำเองได้ เช่น งานศพ งานบวช เกี่ยวข้าว ทอดกฐิน และทอดผ้าป่า

ภูมิปัญญาในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้เป็นภูมิปัญญาและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมเกษตรกรรมที่ได้มีการสืบสานความรู้ ความสามารถและความชำนาญต่างๆ มายังคนรุ่นปัจจุบัน สิ่งใดประดิษฐ์ขึ้นใช้แล้วไม่ได้ผลหรือมีสิ่งอื่นที่ดีกว่าก็จะเสื่อมสลายไป สิ่งใดใช้ได้ดีและสะดวกต่อการผลิตสิ่งนั้นก็ยังคงอยู่ อีกทั้งยังมีการสอดแทรกคุณค่าทางด้านศิลปะลงในงานด้วย หัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้เป็นการนำเอาวัตถุดิบในธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชพรรณที่มีอยู่อย่างมากมาย ทั้งบนบกและในน้ำ เช่น ไม้ไผ่ หวาย กระจูด กก มะพร้าว ลิเพา รวมถึงปาล์ม นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น
- ไม้ไผ่ ลำต้นสามารถใช้เป็นส่วนผสมของยาหลายขนาน เป็นแร้วดักสัตว์ ทำตะกร้า กระบุง เข่ง ชลอม และทำแพ ส่วนหน่อใช้ปรุงเป็นอาหาร
- มะพร้าว รากสามารถใช้ทำยา ลำต้นใช้ทำเสาและเครื่องเรือน ผลนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร ใบใช้ห่อของหรือทำไม้กวาด
- ย่านลิเพา นำมาทำของใช้ ที่นิยมกันได้แก่ หมาก กล่องยาเส้น พาน และหมวก มีราคาค่อนข้างสูง เพราะเป็นงานจักสานที่ต้องใช้ความประณีตบรรจง
- ปาล์ม หรือ หมาก ใช้ทำภาชนะตักน้ำที่เรียกว่า “หมา” โดยทำมาจากส่วนที่เป็นกาบหรือใบ สามารถใช้ตักหรือวิดน้ำได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้แล้วยังมีงานหัตถกรรมที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เหล็กขูด หรือ กระต่ายขูดมะพร้าว สำหรับนำเนื้อมะพร้าวมาทำอาหารทั้งคาว-หวาน โดยจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามจินตนาการของผู้ประดิษฐ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเป็นรูปสัตว์ แสดงให้เห็นถึงความมีอารมณ์ขันและมีวัฒนธรรมการรับประทานที่ผูกพันอยู่กับมะพร้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในดินแดนแถบนี้

ภูมิปัญญาในด้านสมุนไพร ตั้งแต่อดีตกาลภาคใต้เป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แม้ในปัจจุบันจะได้นำไปใช้บ้าง แต่ก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความรู้และประสบการณ์ของบรรพบุรุษในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง สมุนไพรถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวใต้ได้รับการถ่ายทอดมาจนปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ชาวใต้ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับป่าดงพงไพร ความจำเป็นเมื่อเจ็บป่วยบังคับให้คนเหล่านี้ต้องเสี่ยงชีวิตเก็บเอาสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็น พืช สัตว์ หรือสินแร่ มาทดลองใช้ในลักษณะลองผิดลองถูก จนประจักษ์แจ้งในสรรพคุณของสิ่งที่ใช้บำบัดรักษา ดังเช่น พวกเงาะป่า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งขุนเขาและมีความชำนาญในเรื่องสมุนไพร สิ่งที่พวกเขานำมาใช้เป็นสมุนไพรทั้งที่เป็นยาบำบัดและยาบำรุง อันมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของคนกลุ่มอื่น ได้แก่ ยาแก้ปวดเมื่อย พวกเงาะจะเรียกว่า “เลาะเคาะ” เป็นพืชคล้ายต้นฝรั่ง ใช้ต้มเอาน้ำมานวดบริเวณที่ปวดเมื่อย ยาคุมกำเนิด เป็นรากไม้ให้ผู้หญิงแทะกินหรือกินกับหมาก ยาเสริมกำลังทางเพศ หรือ “ตาง๊อต” มีลักษณะคล้ายหัวเผือก เปลือกสีขาว ใช้กินสดหรือแห้งก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วยาขนานต่างๆ เหล่านี้เป็นการใช้สมุนไพรเพียงชนิดเดียวในทำนองเดียวกันคนไทยพุทธ ไทยมุสลิม คนไทยเชื้อสายจีน ก็ย่อมเก็บสะสมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและยาที่มีคุณค่าต่อร่างกาย โดยการบอกกล่าวกันต่อๆ มา หรือได้ทดลองด้วยตัวเอง เริ่มจากของใกล้ตัว เช่น หอม กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ จนขยายขอบเขตกว้างขวางออกไปเป็นการใช้พืชพรรณในป่า นอกจากนั้นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับคนต่างชาติพันธุ์ ล้วนเป็นการขยายฐานความรู้และเกิดการพัฒนาปรับปรุงเป็นยาขนานต่างๆ มากขึ้น เช่น ยากระชับลำไส้ ซึ่งเป็นส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด ใช้ขับลมในกระเพาะอาหาร ยากำลังราชสีห์ เป็นส่วนผสมของดอกไม้หลายชนิด ใช้สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วมีบุตรยากช่วยให้มีบุตรได้ ยาแก้โรคไต เป็นส่วนผสมของรากไม้หลายชนิดดองกับเหล้าขาว ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว นอกจากนี้แล้วเพื่อให้เกิดผลในทางจิตวิทยา หรือเป็นกำลังใจให้กับคนป่วย อาจจะมีการร่ายเวทมนต์คาถาประกอบ
ภูมิปัญญาในด้านทัศนคติ โดยภาพรวมแล้วทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมของชาวใต้มิได้แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นเท่าใดนัก เว้นแต่จะผูกพันแนบแน่นอยู่กับธรรมชาติที่เป็นคาบสมุทร รวมทั้งการได้แลกเปลี่ยนสังสรรค์กับคนจากวัฒนธรรมอื่นอย่างต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานับพันปี ทำให้เกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสภาพดังกล่าวนี้เป็นลักษณะเด่นที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติที่เป็นภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น และถือปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานของชาวใต้ ดังเช่นต่อไปนี้ 1. ด้านสิ่งแวดล้อม คนในภาคใต้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับธรรมชาติในลักษณะที่ได้รับการเกื้อกูลจากธรรมชาติอย่างล้นเหลือมาแต่อดีต เพียงแค่เก็บเกี่ยวเอาทรัพยากรที่มีอยู่มากินใช้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองก็อยู่ได้อย่างสบายโดยไม่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษเหมือนกับภูมิภาคอื่น ในทัศนะของชาวใต้ คนจึงมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติที่ยอมรับอิทธิพลของธรรมชาติ จะเห็นได้จากการปลูกสร้างบ้านเรือน การทำมาหากิน ดังนั้นคนที่นี่จึงเคารพธรรมชาติ จะทำการสิ่งใดเพื่อการครองชีพก็จะบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองอยู่ ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมต่างๆ เช่น
- พิธีขอป่า เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านภาคใต้ทำขึ้นเพื่อขอตัดไม้ในป่า สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนหรือที่ทำกิน โดยการนำอาหารคาวหวานพร้อมกับตัดกิ่งไม้เป็นรูปตะขอมาเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา แล้วอธิษฐานขออนุญาตเข้าถางป่า นอกจากนี้แล้วการแสดงออกถึงการยอมรับนับถือความสำคัญของธรรมชาติและปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติยังเห็นได้ในพิธีกรรมการเคารพแม่โพสพ เคารพขุนเขา และเคารพแผ่นดินเกิดด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ พืชพรรณธัญญาหารที่มีอยู่ทั่วไปไม่ขาดแคลน ประกอบกับความศรัทธาในศาสนาที่สอนให้ไม่โลภ ไม่สะสม หมั่นทำบุญทำทาน เมื่อเปรียบเทียบกับคนในภูมิภาคอื่น คนใต้จึงดูสมถะ เรียบง่าย เพียงพอแล้วในปัจจัยสี่ จุดมุ่งหมายของชีวิตไม่ได้หยุดอยู่ที่การกินอยู่อย่างมั่งคั่ง หากแต่จะอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด

2. การปกครอง ตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมาหัวเมืองปักษ์ใต้มิได้ถูกปกครองอย่างใกล้ชิดจากเมืองราชธานี แต่จะอาศัยเมืองหลักอย่างนครศรีธรรมราชและสงขลาเป็นศูนย์กลางปกครองดูแลอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองปักษ์ใต้จึงไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น หัวเมืองต่างๆ มีอิสระในการปกครองและดูแลกันเอง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นแบบนี้ทั้งหมด แต่หลายๆ หมู่บ้านก็เกิดจากการสร้างตัวด้วยลำแข้งของตนเองท่ามกลางสภาพธรรมชาติที่เกื้อกูลเป็นอันดี ชาวใต้จึงมีทัศนะในการปกครองแบบพึ่งพาตนเอง รักอิสระ รักความเป็นธรรม
3. สถานภาพ สังคมของคนชาวใต้ให้ความสำคัญกับเพศชายสูงกว่าเพศหญิง ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังให้ผู้หญิงเป็นผู้มีคุณค่าสมเป็นกุลสตรีไทย ซึ่งมีทัศนะต่างๆ ดังต่อไปนี้
- การยกย่องบุรุษเพศในการเป็นหัวหน้าครอบครัว พร้อมกันนั้นก็คาดหวังว่าบุรุษต้องเป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม และต้องเป็นคนจริง คือ เชื่อถือได้ไม่เหลวไหล
- ในการยกย่องบุรุษเพศ ชาวใต้นิยมนับถือ นักเลง ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีบุคลิคพิเศษ มีน้ำใจ เป็นคนใจกว้าง กล้าได้กล้าเสีย รักษาคำพูด รักพวกพ้อง ซึ่งในท้องถิ่นที่ฝ่ายปกครองดูแลไม่ทั่วถึง นักเลงจะทำหน้าที่ดูแลจัดการให้ท้องถิ่นมีความสงบเรียบร้อย พร้อมๆ กับคอยปกปักรักษาผลประโยชน์ของตนเองและบริวาร ไม่ให้นักเลงถิ่นอื่นเข้ามารังแก
- ชาวใต้ให้คุณค่าต่อพรหมจารีของผู้หญิงสูงมาก โดยยึดถือกันทั่วไปว่า สตรีต้องรักนวลสงวนตัว ประพฤติตนเรียบร้อย สำรวมกริยามารยาท มีความเป็นแม่ศรีเรือน ข้อยึดถือเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงภาคใต้จะไม่สนทนาปราศรัยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่น่าไว้วางใจ ฝ่ายผู้ชายก็จะไม่มีนิสัยพูดจาแทะโลมผู้หญิง
การปลูกฝังคุณธรรม ในความเป็นสังคมเปิดที่มีเครือข่ายระบบความสัมพันธ์กว้างขวางและต้องปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับการที่ต้องรักษาความเชื่อแบบธรรมเนียมที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมไว้เพื่อให้การดำเนินชีวิตราบรื่นผาสุขตามครรลองที่สืบทอดกันมา สังคมชาวใต้จึงมีกรรมวิธีปลูกฝังรักษาความเชื่อและบรรทัดฐานของสังคมไว้ในหลายๆ วิธี ด้วยการอาศัย บ้าน ชุมชน วัด พิธีกรรม วรรณกรรมท้องถิ่น เป็นตัวถ่ายทอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมคำสอน สุภาษิต ตลอดจนการละเล่นต่างๆ เมื่อคนเติบโตขึ้นท่ามกลางค่านิยมและแบบอย่างความประพฤติ ในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมตามขนบประเพณีที่ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือตอกย้ำ ก็จะเกิดการซึมซับรับเอาโดยอัตโนมัติ ซึ่งชาวใต้มีวิธีการปลูกฝังและรักษาบรรทัดฐานของสังคมดังนี้ 1. เพลงกล่อมเด็ก สังคมภาคใต้เป็นสังคมเกษตรกรรมเน้นการบอกเล่ามากกว่าการอ่าน การปลูกฝังจึงเริ่มตั้งแต่เยาว์วัยด้วยการอบรมเลี้ยงดูในบ้านอันประกอบด้วย พ่อแม่ และเครือญาติ ด้วยน้ำเสียงที่เห่กล่อมก่อให้เกิดความอบอุ่นและสุขกายสบายใจแก่เด็กอ่อน ส่วนเนื้อหาที่แฝงอยู่ด้วยเรื่องคุณธรรมเป็นสิ่งที่ต้องการจะสื่อให้กับเด็กโตที่พอจะเข้าใจ รวมทั้งวงศาคณาญาติที่ได้ยินได้ฟัง 2. วรรณกรรมคำสอนและสุภาษิต สังคมภาคใต้มีวรรณกรรมที่ยึดหลักคำสอนของพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีการสอดแทรกคตินิยมพื้นบ้านไว้ด้วยโดยประสมประสานกันไป ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแนะนำสั่งสอนจริยธรรม ค่านิยม ให้คนในสังคมทุกลำดับชั้น ดังเช่น
-สุภาษิตร้อยแปด พุทธภาษิต ต้นสมุดสุภาษิต เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนบุคคลทั่วไป ให้รู้จักประมาณตน เว้นจากอบายมุข มีคุณธรรม
-ปริศนาสอนน้อง สุภาษิตสอนหญิงคำกาพย์ เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนสตรี ให้มีมารยาทดีงาม
-พาลีสอนน้อง เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนขุนนางข้าราชการ ให้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ รักเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่พึ่งของประชาชน
-พระอนิจจลักขณุกถา เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนพระสงฆ์ ให้เคร่งในศีลในธรรม
3. ไหว้ดี เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ได้กลายเป็นกิจวัตรส่วนหนึ่งของชาวภาคใต้เพราะเชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะเป็นมงคลแก่ตัวเองและนำความสวัสดีมีชัยมาให้ โดยเป็นการสวดเพื่อระลึกถึงคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ช่วยคุ้มครองและบันดาลให้สัมฤทธิ์ผใปรนา
4. พิธีลอยเคราะห์ คนไทยภาคใต้มีความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ว่า คนเราทุกคนมีช่วงเวลาที่ดาวพระเคราะห์มาเสวยอายุ ยามใดที่ดาวพระเคราะห์มาเสวยอายุก็จะเกิดโทษกับผู้นั้น อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเหตุการณ์ร้ายๆ มากระทบต่อการดำเนินชีวิตของตัวเองและญาติมิตร ดังนั้นจึงนิยมลอยเคราะห์เพื่อให้ตนพ้นจากเคราะห์กรรมนั้น ด้วยการนำต้นกล้วยมาทำเป็นแพ แล้วเอาผม เล็บ ขี้ไคล รวมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน ใส่ในแพลอยน้ำไป
5. การสื่อข่าวสาร การละเล่นของชาวบ้านภาคใต้ที่สืบทอดกันมา ทั้งหนังตะลุง โนรา เพลงบอก คำตัก ตลอดจนลิเกป่า ล้วนแต่มีบทบาทต่อสังคม ซึ่งนอกเหนือจากความบันเทิงแล้วยังทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ท่วงทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ศิลปะการแสดงเหล่านี้มีจุดเด่นอยู่ที่ท่วงทำนอง จังหวะ ถ้อยคำสำนวนที่เต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ และน้ำเสียงอันก่อให้เกิดความหรรษา ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของชาวบ้านมากกว่าสื่อธรรมดา

ไม่มีความคิดเห็น: