วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาร่มกระดาษสา

ร่มกระดาษสาไม่เลือนรางไปตามกาลเวลา
จากลำไผ่ไหวเอนส่งเสียงเอียดออดยามต้องลมแรงมาเป็นก้านร่ม และโครงร่ม กระดาษสาซื่งทำมาจากเปลือกไม้หุ้มต้น รวมกันเป็นร่มกระดาษสา ที่ซึ่งทอดเงากันแดดฝนมานานนับศตวรรษ ด้วยคุณค่าและเอกลักษณ์อันงดงาม ร่มกระดาษสาบ่อสร้างจึงเป็นมรดกแผ่นดินที่ชาวเชียงใหม่ทุกคนหวงแหนและภาคภูมิใจ การทำร่มกระดาษสาบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง นี้มีกรรมวิธีผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ที่สืบทอดกันมาจากความคิดค้นสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นอันยาวนาน สืบทอดมีความเป็นมาและวิวัฒนาการจนมาเป็นร่มกระดาษสาที่เราได้เห็นในปัจจุบัน เอกลักษณ์ของร่มกระดาษสานี้ ก็คือกรรมวิธีในการผลิตต้องอาศัยความชำนาญ และฝีมืออย่างสูง อีกทั้งฝีมือในการแต่งแต้มลวดลายอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ด้วย

"บ่อสร้างกางจ้อง" คำว่า จ้อง นี้เป็นภาษาเหนือแปลว่าร่ม ซึ่งมีการใช้จนติดปากดังเช่นในเพลงยอดนิยมของ ทอม ดันดีเลยทีเดียว "สาวน้อยกางจ้อง" นี้ก็หมายถึง สาวสวยเชียงใหม่ในชุดผ้าไหมผื้นเมือง กางร่ม ที่ปรากฎกายให้เห็นในขบวนแห่งและงานต่าง ๆ ของเชียงใหม่ รวมทั้งอยู่ในภาพโปสเตอร์ต่าง ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของถิ่นไทยงามไปแล้ว
ความเป็นมาของร่มบ่อสร้าง
ความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องการทำร่มกระดาษสาบ่อสร้างนั้นมีกาบอกเล่ากันมา 2 ทางด้วยกัน
เรื่องแรกก็คือ ในสมัยก่อนมีพระธุดงค์มาปักกลดกที่บ้านบ่อสร้าง แล้วกลดที่ปักไว้นั้นใช้การไม่ได้เนื่องจากมีลมพายุพัดแรงมาก ชายชราผู้หนึ่งชื่อเผือกได้ซ่อมแซมให้จนใช้ได้และได้นำมาเป็นตัวอย่างดัดแปลงทำร่มใช้ขึ้นในเวลาต่อมา
อีกเรื่องหนึ่งเล่าถึงที่มาของร่มบ่อสร้างว่า ประมาณกว่า 100 ปีมาแล้ว พระอินถาผู้เป็นภิกษุประจำสำนักสงฆ์วัดบ่อสร้างใด้ธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปยังที่ต่าง ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านธุดงค์เข้าไปใกล้ชายแดนพม่าและมีชาวพม่านำกลดมาถวาย ด้วยความที่ท่านมีความสนใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่าง ๆ อยู่แล้ว รู้สึกชอบกลดที่ชาวบ้านนำมาถวายจึงสอบถามถึงที่มา ชาวพม่าที่นำกลดมาถวายได้เล่าให้ฟังว่า เมืองที่เขาอยู่นั้นมีการทำกลดกัน ท่านจึงเดินทางเข้าไปในเมืองพม่า แล้วได้เห็นจริงตามที่ชาวพม่าผู้นั้นบอก ท่านมีความเห็นว่ากลดซึ่งมีลักษณะเหมือนร่มนี้ใช้กันแดดกันฝนได้ ทำจากวัสดุที่หาง่าย และสามารถพกพาไปไหนต่อไหนได้สะดวก
พระอินถาตั้งใจศึกษาฝึกฝนจนสามารถทำร่มหรือกลดชนิดนี้ได้ หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับมายังบ้านบ่อสร้างเพื่อเผยแพร่วิธีทำร่มโดยใช้วัดเป็นโรงเรียน ชาวบ้านก็สนใจมาเรียนการทำร่มกันจำนวนมาก โดยฝ่ายชายศึกษาเรื่องการทำโครงร่มโดยใช้ไม้บงหรือไม้ไผ่ ฝ่ายหญิงศึกษาเรื่องการทำกระดาษสาสำหรับใช้คลุมร่ม ไม่นานนักก็สามารถทำกันได้ จนกลายเป็นอาชีพหนึ่งรองจากการทำนา จึงเกิดเป็นหมู่บ้านทำร่มขึ้นมาโดยเฉพาะ จนบ่อสร้างมีชื่อเสียงในการทำร่มมาจึงถึงทุกวันนี้
วิวัฒนาการของร่มบ่อสร้าง
แรกเริ่มในสมัยที่พระอินถานำงานทำร่มกระดาษสามาเผยแพร่ท่บ้านบ่อสร้างนั้น ท่านใช้กระดาษสาที่ได้จากต้นปอสาของป่าแถบหมู่บ้าน ตัวโครงก็ใช้ไม้บง หัวและตุ้มหรือจุกร่มใช้ไม้ส้มเห็ด คันร่มใช้ไม้รวก มียาก ตะโกเป็นกาวแล้วทาทับกระดาษสาด้วยน้ำมันยางเพื่อกันแดดกันฝน
ต่อมาก็ยังคงใช้โครงไม้บงหรือไม้ไผ่ แต่มการนำพวกเปลือกไม้ ดินแดง และเขม่า ไปผสมยางไม้มาย้อมทาแทน จนเกิดเป็นสีดำและสีแดง ชาวบ้านรุ่นนั้นทำร่มขึ้นเพื่อนำไปถวายวัดในเทศการงานบุญ หากทำได้จำนวนมากก็จะทำไปขายในเมือง เมื่อขายดีเป็นที่นิยมก็มีการส่งเสริมการผลิตกันอย่างจริงจัง โดยเพิ่มการวาดสีสันลวดลายให้เกิดความงดงาม การทำร่มกระดาษสาจึงไม่ได้ทำขึ้นเพียงเพื่อใช้ในครอบครัวอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นอาชีพรองจากการทำนา และดูเหมือนว่าในปัจจุบันได้กลายเป็นอาชีพหลักของคนบ่อสร้างไปเสียแล้ว

การทำร่มกระดาษสาที่บ้านบ่อสร้างต้องอาศัยวัสดุอุปกรณ์หลายอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าคนบ่อสร้างไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ได้เองทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแหล่งผลิตอื่นที่ต้องทำอุปกรณ์มาขายให้แก่บ่อสร้างโดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง อาทิ หมู่บ้านต้นเปารับหน้าที่ทำกระดาษสา บ้านแม่ฮ้อยเงินทำด้ามร่ม บ้านต้นแหนทำโครงร่ม ซี่ร่ม ฯลฯ

ในช่วงแรกที่ร่มโครงเหล็กใช้ผ้าใบหรือพลาสติกแพร่หลายเข้ามาทำให้ร่มกระดาษสาบ่อสร้างเกือบเลิกการผลิตไปเหมือกัน ชาวบ้านที่เคยยึดอาชีพทำร่มต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น แต่ไม่นานนัก็มีผู้ตั้งศูนย์หัตถกรรมการทำร่มบ่อสร้างขึ้น ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นแหล่งผลิตร่มกระดาษสาขนาดใหญ่ รับผลิตและจัดจำหน่าย ทั้งขายส่งและขายปลีก ร่มกระดาษสาบ่อสร้างจึงคืนสู่สังเวียนหัตถกรรมชั้นแนวหน้าของเชียงใหม่อย่างเต็มภาคภูมิ และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดศูนย์หัตถกรรมร้านรวงใหม่ ๆ ขึ้นอีกมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น: