วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

ในปัจจุบันการแพทย์แผนไทยได้รับการยอมรับและขยายผลการปฏิบัติไปอย่างกว้างขวาง มิใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น ต่างชาติได้ให้ความสนใจกับการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นการดูแลรักษาแบบองค์รวม ทั้งระบบเป็นอย่างมาก ตำรับยาแผนไทยใช้สมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้สารเคมีสังเคราะห์แบบแพทย์ปัจจุบัน ในแต่ละตำรับยาจะประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ทั้งตัวที่ออกฤทธิ์หลัก ตัวที่ออกฤทธิ์รอง ตัวที่ฆ่าฤทธิ์ ตัวที่เสริมฤทธิ์ ฯลฯ ทำให้บำบัดโรคได้แบบองค์รวม แม้กระทั่งการบำบัดทางกายภาพ เช่น การนวด การบำบัด ด้วยกลิ่นก็รวมอยู่ในการแพทย์แผนไทยเช่นกันเมื่อได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจมากในสิ่งดังกล่าว ซึ่งถือว่า เป็นภูมิปัญญาของชาติ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ ดังนั้น จึงต้องหาทางที่อนุรักษ์ ฟื้นฟูส่งเสริมและคุ้มครอง สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาเหล่านั้นไว้ โดยขณะนี้ได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย แล้วจึงขอเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อย
พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ แผนไทย พ.ศ.2542 เป็นหนึ่งในกฏหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทย และเป็นกฏหมายฉบับเดียวในโลกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ คุ้มครอง และส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และความ หลากหลายทางชีวภาพ พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองและส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยอย่างเป็น รูปธรรมโดยให้มูลค่าแก่ภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยเฉพาะภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ในทรัพย์สินทางปัญญาและการ ให้การคุ้มครองสมุนไพรควบคุมตามประกาศกำหนด ตลอดจนพื้นที่ที่เป็นถิ่นกำเนิดฐานะส่งเสริมและพัฒนา สมุนไพร โดยมีกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้การสนับสนุน
ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหมายความว่า พื้นความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ได้แก่กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษาหรือป้องกัน หรือส่งเสริมและฟื้นฟู สุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และให้หมายถึง การเตรียมการผลิตยาและการประดิษฐ์ อุปกรณ์ เครื่องมือการแพทย์ ทั้งนี้ โดยองค์ความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา
ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย
1. ตำรับยาแผนไทยของชาติ หรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ
2. ตำรับยาแผนไทยทั่วไป หรือ ตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป
3. ตำรับยาแผนไทยส่วนบุคคล หรือ ตำราการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล
สาระสำคัญของ พรบ.ดังกล่าว ประกอบด้วย 7 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
กำหนดให้มีคณะกรรมการ
หมวดที่ 2 การคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
กำหนดสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่จะได้รับการคุ้มครอง
กำหนดให้มีการรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทั่วราชอาณาจักร
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์พื้นเมือง
หมวดที่ 3 การคุ้มครองสมุนไพร
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุมหรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า
กำหนดให้มีการจัดทำแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพร
กำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร
หมวดที่ 4 การอุทธรณ์
การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหรือรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี
หมวดที่ 5 พนักงานเจ้าหน้าที่
กำหนดอำนาจหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานตาม พรบ.
หมวดที่ 6 กองทุนภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย
ทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
หมวดที่ 7 หากำหนดโทษ
บทกำหนดโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดใน พรบ.
ใน พรบ. ซึ่งมี 7 หมวด มีทั้งหมด 82 มาตรา ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงบางมาตรการและวัตถุประสงค์ เท่านั้น ส่วนบุคคลที่มีสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จะได้รับการคุ้มครองตาม พรบ. นอกจากนี้ ยังให้ความ คุ้มครองสมุนไพรที่กฏหมายประกาศกำหนดให้เป็นสมุนไพรควบคุม รวมทั้งระบบนิเวศที่เป็นถิ่นกำเนิดของสมุนไพร นั้น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม กฏหมายฉบับนี้จะเป็นรั้วได้หรือไม่นั้น ต้องมีกลไกและขั้นตอนการดำเนินงานทาง กฏหมายอีกหลายอย่าง กล่าวคือ ต้องมีกฏหมายลำดับรองว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่จะออกมาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการ ดำเนินการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้เป็นไปตามที่กำหนด โดยจะ มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แบบไทย ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลทั้งภาคราชการและเอกชนมา ทำหน้าที่วางนโยบาย กำหนดกฏเกณฑ์ ระเบียบและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้การคุ้มค่าและส่งเสริมในภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สมดังเจตนารมย์ของกฏหมายฉบับนี้และจะทำให้มี “รั้ว” ที่เข้มแข็งสามารถปรับปรุง คุณค่าภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรชีวภาพของชาติไทยให้ยั่งยืนได้ตลอดไป

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากทราบว่า กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเปิดกว้างให้ ประชาชนทั่วไปที่ สนใจในเรื่องของ การอนุรักษ์ และ เผยแพร่สมุนไพร พื้นบ้าน ได้มากน้อยแค่ไหน ขอบคุณคับ