วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาการทำนาเป็ด

การทำนาปลูกข้าว มีมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล แม้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยกรุงสุโขทัย ก็ยังมีจารึกข้อความว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยสุโขทัยการทำนาได้เป็นอาชีพหลักของคนไทย แล้ว
การทำนา หากแบ่งเป็นทำตามฤดูกาลแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การทำนาปี หรือนาน้ำฝน คือการทำนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หากปีใดฝนมาเร็วก็จะเริ่มทำนาเร็ว หากปีใดฝนแล้งก็จะทำให้ไม่สามารถทำนาได้หรือทำได้แต่เสียหายมาก หรือหากปีใดน้ำมากเกินไปข้าว ก็จะเสียหาย หรือไม่ได้เกี่ยว ชะตาชีวิตของชาวนา จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำฝน พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสง
2. การทำนาปรัง หรือนาครั้งที่สอง หรือนานอกฤดู หรือนาน้ำตม คือการทำนาที่ไม่ได้อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก แต่อาศัยน้ำจากลำห้วย หนอง คลองบึง น้ำใต้ดิน หรือน้ำจากคลองชลประทาน พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้นหรือเกษตรกรเรียกว่า “พันธุ์ข้าวเตี้ย “ไม่มีความไวต่อแสง กล่าวคือข้าวจะออกดอกติดรวงข้าวและเก็บเกี่ยวได้ตามอายุ ระยะเวลาการเพาะปลูก และอายุการเก็บเกี่ยวจะน้อยกว่าข้าวนาปี การทำนาปรังจะใช้วิธีหว่านน้ำตม เป็นส่วนมาก
นอกจากแบ่งตามฤดูกาลแล้ว การทำนา ยังแบ่งออกตามวิธีการเพาะปลูกหลัก ๆ ได้ 2 วิธี คือ
1. การทำนาดำ จะทำในพื้นที่ราบลุ่มที่น้ำไม่ท่วมขังในฤดูน้ำหลาก จะเป็นนาน้ำฝน หรือนาในเขตชลประทานก็ได้ พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกจะเป็นพันธุ์ข้าวไวแสง หรือไม่ไวแสงก็ได้ แล้วแต่ฤดูกาล การเพาะ ปลูก การทำนาดำจะใช้แรงงานมาก เพราะต้องทำแปลงตกกล้าหรือแปลงเพาะกล้าข้าวก่อนแล้วจึงย้ายต้นกล้าไปปักดำอีกครั้งหนึ่ง ใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกน้อย และมีปัญหาเรื่องวัชพืชในนาข้าวน้อยกว่าการทำนาหว่าน
2. การทำนาหว่าน โดยมากการทำนาหว่านในฤดูนาปี จะทำในนั้นที่ ๆ เป็นที่ดอน หรือพื้นที่ ๆ มีน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก เช่นบริเวณนั้นที่ราบลุ่มภาคกลางเขตอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว จะหว่านแบบที่เรียกว่า “ หว่านแห้งหรือหว่านสำรวย “ หรือหากทำเทือกจะเรียกว่า “ หว่านเปียกหรือหว่านน้ำตม “
ปัจจุบันการทำนาในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานแทบจะไม่มีฤดูและเวลาที่แน่นอน เพราะจะมีการทำนาต่อเนื่อง และหมุนเวียนกันโดยตลอด หากท่านนั่งรถยนต์ผ่านสองข้างทางที่ทำนาจะพบว่าบางแปลงชาวนากำลังเก็บเกี่ยว บางแปลงข้าวอยู่ในระยะแตกกอ ซึ่งการทำนาแบบต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้มีปัญหาเรื่อง โรคและแมลงศัตรูข้าวระบาด เนื่องจากมีแหล่งอาหารบริบูรณ์ ประกอบกับเกษตรกรมักจะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวโดยไม่จำเป็น จึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการระบาดของศัตรูข้าวมากยิ่งขึ้น และมีต้นทุนในการนำนาสูง จนไม่มีกำไร
จากข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวนาปรัง ปี พ.ศ.2539-2541 โดยเฉลี่ยคิดเป็นเงิน 1,997 2,152 และ 2,157 บาทต่อไร่ ตามลำดับ ผลผลิตเฉลี่ยได้ จำนวน 721 663 และ 676 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นรายได้ 3,237 4,562 และ 3,390 บาทต่อไร่ ตามลำดับ เมื่อคิดคำนวนค่าแรงงานของตัวเกษตรกรด้วยแล้ว จะไม่มีกำไรเลย ทำให้เกษตรกรจำนวนมาก พยายามที่จะคิดค้นหาวิธีการทำนาใหม่ ๆ ที่จะลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปร เช่นค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูข้าว และค่าจ้างแรงงาน
ปี พ.ศ.2539 นายละเมียด ครุฑเงิน เกษตรกร หมู่ที่ 9 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ได้ทดลองปลูกข้าว หรือทำนาแบบ “ การปลูกข้าวด้วยตอซัง ” ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้เป็นจำนวนมาก คือ ลดค่าเตรียมดินได้ประมาณ 150 บาทต่อไร่ ลดค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 300-400 บาทต่อไร่ ลดค่าสารเคมีกำจัดวัชพืชได้ 80-100 บาทต่อไร่ ลดค่าสารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ได้ 60-80 บาทต่อไร่ รวมลดต้นทุนทั้งสิ้น 500-700 บาทต่อไร่ หรือ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งสิ้น
การเกลี่ยฟางทันที การทำนาปลูกข้าวด้วยตอซัง ได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ จังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัดในปี พ.ศ.2542 เกษตรกร บ้านจ่า ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้ ประยุกต์การปลูกข้าวด้วยตอซัง ด้วยปรับปรุงเทคนิคและ วิธีการบางประการเช่นการปรับปรุงการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม เหมาะสมกับสภาพดิน การเกลี่ยฟางข้าวให้คลุมกระจายทั่ว

การทำนาปลูกข้าวด้วยตอซัง ได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ จังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัดในปี พ.ศ.2542 เกษตรกรบ้านจ่า ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้ ประยุกต์การปลูกข้าวด้วยตอซัง ด้วยปรับปรุงเทคนิค และวิธีการบางประการเช่นการปรับปรุงการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม เหมาะสมกับสภาพดิน การเกลี่ยฟางข้าวให้คลุมกระจายทั่ว ตอซัง และการประดิษฐ์ชุดพวงล้อยาง จำนวน 8-10 เส้น ติดท้ายรถไถนา เพื่อลากทับตอซัง ให้แนบติดกับพื้นนา จึงเรียกวิธีการตามลักษณะการปฏิบัติว่า “ การปลูกข้าวล้มตอซัง ” และได้ขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่นจังหวัดชัยนาท และสุพรรณบุรี เนื่องจากการปลูกข้าวแบบล้มตอซังยังมีข้าวจำกัดบางประการ เช่น การปลูกในช่วงฤดูร้อน ต้นข้าวอ่อนที่แตกขึ้นมาใหม่ จากตอซัง จะตายเพราะน้ำในแปลงนาร้อนเกินไป และต้องเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง ซึ่งต้นข้าวจะยังสดไม่แห้งเกินไป จึงจะได้ต้นพันธุ์ที่มีหน่อข้าวแข็งแรง เจริญเติบโตดี บางครั้งเมื่อต้นข้าวที่แตกขึ้นมาใหม่ตาย จำเป็นต้องหว่านพันธุ์ข้าวเสริมบริเวณที่ตาย ทำให้ต้นข้าวมีอายุเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน ผลผลิตข้าวเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะมีข้าวเขียวเจือปน ทำให้ขายได้ในราคาต่ำ
นายสกล จีนเท่ห์ เกษตรกรหมู่ที่ 4 ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในโรงเรียนเกษตรกร ภายใต้โครงการศูนย์ส่งเสริมผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้ใช้ประสบการณ์จากการประกอบอาชีพการทำนาที่ตกทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ร่วมกับประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้โดยวิธีการปฏิบัติจริง ในโรงเรียนเกษตรกรร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ในท้องถิ่น ประยุกต์วิธีการปลูกข้าวแบบล้มตอซัง ให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นเป็นการทำนาวิธีใหม่ที่เรียกว่า “ นาเป็ด ” ซึ่งการทำนาเป็ดนี้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้และปฏิบัติด้วยตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการนำผลการศึกษาวิจัยเพื่อการปรับระดับของนักวิชาการคนใดในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสถาบันการศึกษาใดเลย เป็นภูมิปัญญาของเกษตรกรเองโดยแท้
นาเป็ด เป็นการทำนาวิธีใหม่ที่ใช้เป็ดมาช่วยทำนา เดิมทีมีผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดฝูงขนาดใหญ่จำนวนมากได้เลี้ยงเป็ดแบบลดต้นทุนการผลิต หรือเรียกว่า “ เป็ดทุ่ง ” โดยการปล่อยฝูงเป็ดตั้งแต่ขนาดยังเล็กจากท้องทุ่งแถวจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท ให้ฝูงเป็ดเหล่านั้น เก็บกินข้าวเปลือก กุ้ง หอย ปู ปลาในท้องนาที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเป็นอาหาร และเดินทางแบบค่ำไหนนอนนั่นเรื่อยมา เป็นแรมเดือน จนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือปทุมธานี ฝูงเป็ดที่เลี้ยงจะโตมีขนาดพอดีกับการจับจำหน่าย หรือนำไปเลี้ยงต่อ การเลี้ยงเป็ดวิธีนี้ทำกันมาหลายปีจวบจนความเจริญของบ้านเมืองเกิดขึ้น มีการก่อสร้างตึกอาคารบ้านเรือนและถนนเป็นจำนวนมาก ไม่สะดวกกับการเดินทางเคลื่อนย้ายฝูงเป็ดเหมือนเช่นแต่ก่อน ประกอบกับการทำนาในระยะหลังนี้ไม่มีมีฤดูกาลเหมือนเช่นแต่ก่อน ที่ส่วนใหญ่ตลอดเส้นทางการเคลื่อนย้ายฝูงเป็ดจะปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง ตามธรรมชาติข้าวจะแก่และเก็บเกี่ยวจากเหนือลงใต้ ดังนั้น ฝูงเป็ดจึงเดินทางหากินจากเหนือไล่ลงมาใต้พอดีกับระยะเวลาเก็บเกี่ยว อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อวิถีการทำนาเปลี่ยนแปลงจากปีละครั้ง เป็นแบบต่อเนื่องไม่มีฤดูกาล เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ ทำให้เป็ดตายเป็นจำนวนมาก และไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของเป็ดหลงเหลืออยู่ในนาข้าวอีกเลย จึงทำให้วิถีการประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดพเนจร หรือ เป็ดทุ่ง หมดไป
ในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจของประเทศไทยตกต่ำ เกษตรกร ท้องทุ่งบางระจัน ดินแดนแห่งคนกล้า ได้หันมาเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวเป็นจำนวนมาก โดยเป็ดที่เลี้ยงส่วนมากจะใช้รถอีแต๋นลากกระบะที่ทำเป็นกรงบรรทุกเป็ด นำไปปล่อยเลี้ยงในพื้นที่ใกล้ ๆ หมุนเวียนไปในท้องทุ่งบางระจัน เพราะการทำนาในท้องทุ่งบางระจันมีการทำแบบหมุนเวียนต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงทำให้มีที่สำหรับเลี้ยงเป็ดได้ตลอดปี

เป็ดกำลังช่วยเกษตรกรทำนา

ขณะที่เลี้ยงเป็ดในทุ่ง เกษตรกร สกล จีนเท่ห์ ก็ใช้ ความสังเกตจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ในเรื่องของระบบนิเวศในโรงเรียนเกษตรกร ผนวกกับข้อจำกัดของการทำนาแบบล้มตอซังมาประยุกต์ ทดลองเอาเป็ดมาช่วยทำนา กล่าวคือ ภายหลังจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ปล่อยเป็ดลงไปลุยในพื้นที่นา เพื่อเก็บหอยเชอรี่ เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดหญ้า และอื่น ๆ กิน ฟางที่อยู่ในนาก็จะถูกเป็ดย่ำจนเปื่อย มูลของเป็ดที่ถ่ายออกมาก็จะเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าวในนา หลังจากนั้นจึงเอาเป็ดออกจากแปลงนา และหว่านเมล็ดข้าวลงไปโดยไม่ต้องไถพรวนดิน โดยวิธีการปฏิบัติคล้ายกับข้าวล้มตอซัง จะแตกต่างตรงที่ไม่ต้องใช้ล้อยางล้มตอซัง แต่ใช้เป็ดแทน และต้องใช้เมล็ดข้าวงอก (หุ้ม) หว่าน ไม่ใช้ต้นแตกใหม่จากตอซัง เกษตรกร สกล จีนเท่ห์ ทดลองทำติดต่อกันมากกว่า 10 ฤดู จนมั่นใจว่าเป็นวิธีที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับท้องทุ่งบางระจัน และให้ ชื่อการทำนาวิธีนี้ว่า “ การทำนาเป็ด ” ซึ่งในปัจจุบันอำเภอบางระจัน หรือที่เรียกว่า “ บางรักชาติ ” มีพื้นที่นาเป็ดถึง 25,800 ไร่ และกำลังขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูกาล โดยมีวิธีการทำดังนี้
1. ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 15 วัน ให้ระบายน้ำออกจากแปลงให้แห้ง เพื่อที่รถลงไปเกี่ยวจะได้ไม่เป็นร่องหรือรอยรถ และสะดวกในการเก็บเกี่ยว ปัจจุบันรถเกี่ยวข้าวจะติดเครื่องตีฟางให้กระจายไปทั่วโดยไม่ต้องจ้างเกลี่ยฟางปล่อย ไว้ 1 – 2 วัน ก็ทำการจุดไฟเผาตอซัง เพื่อให้ตอเก่านั้นตาย ถ้าปล่อยไว้ตอเก่าจะแตกหน่อทำให้ข้าวออกรวงไม่พร้อมกัน และเมื่อหว่านข้าว เมล็ดจะตกไม่ถึงดิน
2. หลังเผาตอซังเอาน้ำเข้าแปลงให้ทั่ว และให้เป็ดลงไปหาอาหาร เพื่อกำจัดหอยเชอรี่และศัตรูพืชประมาณ 2 – 3 วัน
3. แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว (หุ้ม)ไว้ 1 คืน แล้วนำไปหว่านในแปลงอัตรา 20 – 25 กก./ไร่ แล้วแช่เมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงในแปลงไว้ 24 ชั่วโมง จึงระบายน้ำออก และให้ทำการตรวจแปลงตามที่ลุ่ม ๆ เพื่อระบายน้ำออกให้หมดทั่วทั้งแปลงนา
4. หลังจากข้าวงอกแล้วประมาณ 8 – 9 วัน ก็เริ่มฉีดยาคุมวัชพืชเหมือนการทำนาน้ำตม
5. การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังจากหว่านข้าว 20 – 25 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 16 – 20 – 0 จำนวน 15 กก./ไร่ และสูตร 46 – 0 – 0 จำนวน 15 กก./ไร่
6. การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ข้าวอายุ 50 – 55 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 จำนวน 10 กก./ไร่
7. การเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 110 – 115 วัน
8. ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 900 – 1,000 กก./ไร่
ประโยชน์ที่รับจากการทำนาเป็ด
1. ลดต้นทุนการผลิต - ค่าเตรียมดิน 350 บาท/ไร่ - ค่าจ้างชักร่อง 50 บาท/ไร่ - สารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ 50 บาท/ไร่ รวม 450 บาท/ไร่
2. รักษาสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมรุนแรง (เอ็นโดซัลแฟน)
3. ลำต้นข้าวแข็งแรง รวงใหญ่ ปริมาณเมล็ดมาก ให้ผลผลิตสูงกว่าการทำนา หว่านน้ำตม
4. ผลผลิตสูงขึ้น (ผลผลิตเฉลี่ย 900 – 1,000 กก./ไร่)
คุณธวัชชัย บุญงาม เกษตรอำเภอบางระจัน ผู้มีเลือดเนื้อเชื้อไขคนกล้าแห่งบางระจัน เป็นผู้ที่ทุ่มเทส่งเสริมการทำนาเป็ดในอำเภอบางระจันอย่างเต็มที่ ให้แพร่ขยายไปทั่วท้องทุ่ง กล่าวว่า “ในภาพรวมของอำเภอบางระจันมีแนวโน้มที่เกษตรกรจะทำนาเป็ดเพิ่มมากขึ้น จะเห็นว่าการทำนาเป็ดในพื้นที่ 25,800 ไร่ สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้เป็นเงินทั้งสิ้น 11,610,000 บาท/ฤดูกาล คาดว่าฤดูต่อไปจะมีพื้นที่ทำนาเป็ดเพิ่มขึ้นถึง 40,000 ไร่ ในที่สุดการทำนาเป็ดจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของเกษตรกรในท้องทุ่งบางระจัน และใกล้เคียง รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะการทำนา และการเลี้ยงเป็ดที่เอื้อประโยชน์แก่กันและกันอีกด้วย “
นอกเหนือไปจากการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรแล้ว การทำนาเป็ดยังเป็นการประกอบอาชีพการเกษตรในลักษณะที่เอื้ออำนวยประโยชน์แก่กันและกัน สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย อันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็น เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดบอกว่า ไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารเม็ดเสริมให้กับเป็ด เพราะเป็ดได้รับอาหารในแปลงนาเพียงพอต่อการเจริญเติบโต หอยเชอรี่ศัตรูข้าวของชาวนาจะถูกเป็ดจับกินเป็นอาหาร เป็ดเจริญเติบโตดี ไข่แดง มีสีแดงดี เปลือกไข่หนา (โดยทั่วไปจะเลี้ยงเป็ดไข่ ) และไข่กลิ่นไม่คาวแรงเหมือนเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด เป็ดแข็งแรง เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดสามารถจำหน่ายเป็ดสาวหรือเป็ดรุ่นเมื่ออายุ 5 – 6 เดือน ในราคาตัวละ 60 บาทหรือจำหน่ายเป็ดแก่ (หมดไข่) เมื่ออายุประมาณ 1 1/2 -2 ปี ตัวละ 40 บาท สำหรับไข่เป็ดจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงแปลงนา โดยผู้เลี้ยงไม่ต้องนำไปขายเอง ราคาไข่เป็ดขึ้นอยู่กับตลาด นับว่ารายได้ดีทีเดียว เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดจะตอบแทนน้ำใจเกษตรกรเจ้าของนาโดยมอบไข่เป็ดที่เลี้ยงให้ไร่ละ 5 ฟองต่อวัน หรือจ่ายเป็นเงินให้ไร่ละ 10 บาท โดยที่มิได้มีการเรียกร้องแต่ประการใด เป็นความพอใจของทั้งสองฝ่าย เมื่อเป็ดกินอาหารในแปลงนาจนอาหารหมดแล้ว (ประมาณ 2 – 3 วัน) เกษตรกรเจ้าของเป็ดก็จะย้ายเป็ดไปยังนาแปลงอื่นที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และปล่อยเป็ดลงทำหน้าที่ช่วยชาวนาทำนาต่อไป ทันทีที่เกษตรกรเจ้าของเป็ดนำสะพานทอดจากพื้นนากับรถกระบะบรรทุก ฝูงเป็ดจะเดินขึ้นรถอย่างเป็นระเบียบด้วยความเคยชิน อย่างมีความสุขที่จะได้ไปช่วยชาวนารายอื่นทำนาต่อไป ( สงสัยคงจะเหนื่อยเพราะต้องเดินย่ำแปลงนาตลอดทั้งวัน พอเห็นรถมาเลยรีบขึ้นเพื่อจะได้พักผ่อน ) มีสัตว์อยู่ชนิดหนึ่งที่ขัดผลประโยชน์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด แต่เกษตรกรเจ้าของเป็ดก็ไม่เคยทำร้ายมันแม้แต่น้อย สัตว์นั้นก็คือ “ นกปากห่าง ” เพราะทันทีที่เกี่ยวข้าวเสร็จนกปากห่างจะลงจับหอยเชอรี่กินทันที เกษตรกรเจ้าของเป็ดก็จะรีบขับไล่ไม่ให้นกปากห่างลงกินหอยเชอรี่ ต้องให้เป็ดของเขากินก่อน เพราะเป็ดจะเก็บแต่หอยเชอรี่ที่มีขนาดเล็กกินได้เท่านั้น ขนาดใหญ่กินไม่ได้ จะปล่อยให้นกปากห่างเป็นผู้จัดการแทนในภายหลัง ซึ่งในปัจจุบันภายหลังจากที่เกษตรกรแห่งท้องทุ่งบางระจันเข้าร่วมโครงการโรงเรียนเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรมีความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าวพร่ำเพื่อโดยไม่จำเป็น มีการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในนาข้าวมากขึ้น ทำให้นกปากห่างมีความสุขมาก มีอาหารในธรรมชาติอุดมสมบูรณ์แก่การดำรงชีวิต พฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป ปัจจุบันนกปากห่างที่หากินอยู่ในท้องทุ่งบางระจันไม่ย้ายถิ่นฐานแล้ว ฝูงนกเหล่านี้อาศัยอยู่ตามกลุ่มหมู่ไม้ในท้องทุ่งบางระจัน กลายเป็นนกประจำถิ่น เพราะความอุดม สม บูรณ์ของอาหารทำให้พวกมันมีนิสัยเสีย ขี้เกียจแม้กระทั่งจะบินกลับอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ที่พวกญาติ ๆ ส่วนใหญ่ของมันอยู่กัน “ เกษตรกรเจ้าของนามีความสุข เพราะมีเป็ดและนกปากห่างช่วยทำนา เกษตรกรเจ้าของเป็ดก็มีความสุข เพราะมีอาหารให้เป็ดกินโดยไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารให้เป็ด เป็ด และนกปากห่างก็มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย เพราะเกษตรกรเจ้าของนาไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าว”

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เยี่ยมครับ พอดีหาข้อมูลเพื่อทำข้อสอบพอดีเลย อย่างไรก็ขอบคุณมากครับ